Search
Close this search box.
ตรวจภายใน

รู้จักการตรวจภายใน เมื่อพบว่ามีผล ’ผิดปกติ’ ควรทำอย่างไร

หากพูดถึงเรื่องตรวจภายในแล้ว ยังมีผู้หญิงหลายคนที่ยังรู้สึกเขินอายเมื่อถึงเวลาต้องตรวจ ส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเพราะไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น หรือบางรายอาจกลัวเจ็บ ซึ่งในปัจจุบันนี้การตรวจภายในของผู้หญิงก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นมาก ใช้เวลาไม่นาน แม่นยำ แถมไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่สำหรับผู้หญิงคนไหนที่ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วได้ผลว่าผิดปกติ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะความจริงแล้วอาจเป็นอย่างอื่นที่ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงก็ได้ วันนี้เราจะพาไปรู้จักการตรวจภายในกันว่า…เมื่อมีผลว่าผิดปกติแล้วควรทำอย่างไรต่อไป และการตรวจ Colposcopy (คอลโปสคอปี) คืออะไร ต่างจากตรวจภายในยังไง

ตรวจภายใน ตรวจหาความเสี่ยงในการติดโรคอะไรบ้าง

ตรวจภายใน

ตรวจภายใน สามารถตรวจสอบเพื่อหาความเสี่ยงในการติดโรคเหล่านี้…

  • ตรวจหาการติดเชื้อภายในช่องคลอด เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้/เทียม
  • ตรวจคัดกรองทางนรีเวช เช่น มีเลือดออกผิดปกติ เนื้องอกมดลูก หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
  • ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี หรือที่เรียกว่า การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear)

 

7 อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับโรคที่ต้องตรวจภายในสำหรับผู้หญิง ต้องทำการตรวจภายในเท่านั้นถึงจะรู้ความผิดปกติได้ เช่น ช็อกโกแลตชีสต์ ที่เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดประจำเดือน มีลูกยาก

1. รังไข่ (Ovary)

2. ท่อนำไข่ (Fallopian tube)

3. มดลูก (Uterus)

4. เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium)

5. ปากมดลูก (Cervix)

6. ช่องคลอด (Vagina)

7. อวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอก (Genital Organs Outside)

เมื่อผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ‘ผิดปกติ’ ควรทำอย่างไร

ตรวจภายใน

มะเร็งที่พบมากในผู้หญิง คือ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะพบได้ก็ต่อเมื่อต้องตรวจภายในเท่านั้น และความร้ายกาจของมะเร็งปากมดลูก เกิดมาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) สามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้มะเร็งปากมดลูกน่ากลัว คือเราแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่าได้รับเชื้อ HPV เข้าไปในบริเวณปากมดลูกแล้ว ซึ่งมีบางเคสที่เชื้อ HPV ใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าจะก่อตัวเป็นมะเร็ง

เวลาดูผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะมีผลปรากฎว่า ‘ปกติ’ กับ ‘ผิดปกติ’ ถ้าผลออกมาว่าปกติ ก็สบายใจได้ ไม่มีผลเสี่ยงเป็นโรคใดทั้งสิ้น แต่เมื่อผลตรวจออกมาว่า ‘ผิดปกติ’ ส่วนมากแล้วก็มักคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่ในกรณีนี้ต้องมาดูกันอีกทีว่าผิดปกตินี้คือผิดปกติในลักษณะใด บางรายพบว่าไม่มีเซลล์มะเร็งจริง แต่มีการติดเชื้ออย่างเชื้อรา หรือแบคทีเรียในช่องคลอด แพทย์จะจ่ายยาให้ตามอาการสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ในบางรายอาจพบว่าผิดปกติที่บริเวณปากมดลูก มีเซลล์ที่ผิดปกติ ส่วนนี้นี่แหละที่จะต้องได้รับการตรวจเฉพาะทางอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ทางโรงพยาบาลแจ้งผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกับเราแล้วแพทย์พบผลผิดปกติที่พิจารณาแล้วว่าจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งผลที่ออกมาผิดปกตินี้ ไม่ได้แปลว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่พบเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณปากมดลูก จำเป็นต้องตรวจกับแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลจะแจ้งการเตรียมตรวจ ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายให้เราทราบก่อน ซึ่งการเตรียมตรวจนี้เรียกว่า ‘การส่องกล้องขยายปากมดลูก หรือ การตรวจ Colposcopy (คอลโปสคอปี)’

Colposcopy คืออะไร ต่างจากตรวจภายในยังไง

ตรวจภายใน

การตรวจภายใน เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง ตั้งแต่ตรวจอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคต่าง ๆ ในผู้หญิง เช่น สาเหตุของอาการปวดประจำเดือน การตกขาวผิดปกติ แผลที่อวัยวะเพศ ตรวจหาภาวะมีบุตรยาก ช็อกโกแลตซีสต์ รวมถึงมะเร็งปากมดลูก

แต่การส่องกล้องขยายปากมดลูก หรือ การตรวจ Colposcopy คือ การใช้กล้อง Colpo ที่มีกำลังขยาย 10 – 40 เท่า เข้าไปตรวจส่องขยายบริเวณปากมดลูกและปากช่องคลอด เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอะไร ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที เปรียบเสมือนการเอาแว่นขยายไปส่องที่ปากมดลูก ไม่มีการสอดใส่ ไม่เจ็บ ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด สามารถดำเนินการแบบผู้ป่วยนอกได้

Colposcopy ต่างจากการตรวจภายในตรงที่ เป็นการตรวจเฉพาะทางกว่า ต้องมีผลตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ที่ผิดปกติมาก่อนแล้วจึงมาตรวจ Colposcopy ได้ หรือว่ามีข้อบ่งชี้อื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง

ตรวจภายใน

การตรวจ Colposcopy เหมาะกับใคร

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ Colposcopy คือผู้ที่มี…

  • ผลตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ผิดปกติ
  • ผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ
  • พบลักษณะของมะเร็งจากการตรวจด้วยตาเปล่า
  • เลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ไม่สามารถหาสาเหตุได้
  • รอยโรคน่าสงสัยบริเวณปากช่องคลอดจากการตรวจด้วยตาเปล่า
  • พบ Persistent HPV infection (การติดเชื้อ HPV แบบถาวร)
  • HPV positive type 16, 18 (การติดเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็ง (oncogenic) หรือชนิดความเสี่ยงสูง (high – risk))
  • ผลการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู พบความผิดปกติ
  • การตรวจติดตามผลหลังการรักษารอยโรค CIN (ระยะก่อนมะเร็งของปากมดลูก) ด้วยการรักษาเฉพาะที่
ตรวจภายใน

การเตรียมตรวจ Colposcopy

  • ซักประวัติเรื่องประจำเดือน เพราะ วันที่ตรวจ Colposcopy การตรวจจะได้ประสิทธิภาพมากที่สุดหลังวันหมดประจำเดือนไปแล้ว 5 – 7 วัน
  • วันที่มาตรวจต้องไม่มีประจำเดือน
  • งดมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ในช่องคลอด
  • งดสอดยาหรือเหน็บยาผ่านช่องคลอดก่อนมาตรวจ 2 วัน
  • ทานอาหารได้ตามปกติ
  • เตรียมผ้าอนามัยมาด้วย
  • ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจ
  • ทำจิตใจให้สบาย

ตรวจภายใน ตรวจได้ตอนไหน

ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์สามารถเริ่มตรวจภายในได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว กรณีสาวโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจภายในทุกปีเช่นกัน แม้ว่าสาวโสดจะมีแนวโน้มเป็นมะเร็งปากมดลูกได้น้อยก็ตาม เพราะมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV โดยร้อยละ 99.7 ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ยังสามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้จากทางอื่นได้ เช่น การสัมผัส ฉะนั้นแล้วการตรวจภายในเป็นเรื่องปกติที่ต้องตรวจ หากพบความเสี่ยงของโรคจะได้ทำการรักษาอย่างทันเวลา

ตรวจภายใน

อาการของผู้หญิงแบบไหนที่ควรเริ่มตรวจภายใน

  • ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจภายในทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • มีอาการปวดท้องน้อย
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีตกขาวผิดปกติ สีเปลี่ยนไป หรือมีกลิ่นเหม็น
  • คลำเจอก้อน หรือพบความผิดปกติบริเวณท้องน้อย
ตรวจภายใน

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

  • มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย

  • มีคู่นอนหรือมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน
  • กินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน (หากนานกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงสูง)
  • มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หรือเริม
  • ขาดสารอาหารบางชนิด โดยฉพาะผู้ที่กินผัก ผลไม้น้อย
  • มีจำนวนการตั้งครรภ์และคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง
  • ขาดการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • สูบบุหรี่

หากสาว ๆ รู้ถึงความน่ากลัวที่เป็นภัยเงียบของมะเร็งปากมดลูกนี้แล้วก็อย่าลืมไปตรวจภายใน หรือตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาความเสี่ยงการเกิดโรคก่อนในเบื้องต้น เพราะเรื่องสุขภาพป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่านะคะ

SHARE

RELATED POSTS