Search
Close this search box.
ลูกเจี๊ยบอนามัย

ต้องรู้นะซิส ‘ลูกเจี๊ยบอนามัย’ ไอเทมทางเลือกสำหรับวันนั้นของเดือน

สาว ๆ อาจจะรู้จักอุปกรณ์ช่วยดูดซับประจำเดือนอย่าง ผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด หรือถ้วยอนามัยกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่วันนี้ Helena จะพาทุกคนไปทำความรู้จักอีกหนึ่งอุปกรณ์ทางเลือกอย่าง ‘ลูกเจี๊ยบอนามัย’ ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร และใช้ในวันนั้นของเดือนได้ปลอดภัยต่อร่างกายของเราหรือเปล่า ตามมาเลย

ลูกเจี๊ยบอนามัย ถ้าไม่ใช่ลูกไก่แล้วคืออะไร?

ลูกเจี๊ยบอนามัย

ลูกเจี๊ยบอนามัย หรือฟองน้ำอนามัย (Menstrual sponge) อีกหนึ่งทางเลือกของสาว ๆ ในช่วงวันนั้นของเดือน รูปร่างเป็นฟองน้ำที่มีการดัดแปลงขนาดและรูปร่างให้เหมาะสมกับสรีระช่องคลอด ลักษณะเป็นฟองน้ำก้อนกลมรี สีเหลืองคล้ายกับลูกเจี๊ยบ จึงถูกเรียกว่า ลูกเจี๊ยบอนามัย ใช้ดูดซับเลือดประจำเดือน ซึ่งฮอตฮิตในหมู่สาว ๆ เนื่องจากไม่มีอะไรโผล่ออกมาจากร่างกายให้กวนใจ ต่างจากผ้าอนามัยแบบสอดที่จะมีเชือกสำหรับถอดห้อยออกมา รวมถึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีเซ็กซ์ในช่วงที่มีประจำเดือนอีกด้วย

ลูกเจี๊ยบอนามัยเริ่มต้นมาจากอะไร?

เดิมทีก่อนที่จะมีการใช้ลูกเจี๊ยบอนามัย สาว ๆ ได้ใช้ฟองน้ำทะเลจากธรรมชาติในการดูดซับประจำเดือน ด้วยการนำฟองน้ำมาตัดแต่งขนาดให้ได้ตามที่ต้องการ แต่ภายหลังได้มีการพัฒนาฟองน้ำอนามัยสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้แทนโดยการเลียนแบบลักษณะของฟองน้ำทะเล เนื่องจากมักพบทราย เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงช่วยให้มีการใช้งานที่สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการดูดซับประจำเดือนของผู้หญิงมากยิ่งขึ้น

รู้ก่อนใช้งาน! ข้อดีและข้อเสียลูกเจี๊ยบอนามัย

การใช้ลูกเจี๊ยบอนามัยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียเหล่านี้อาจช่วยให้สาว ๆ ตัดสินใจใช้งานตามความเหมาะสมในชีวิตประจำวันได้ง่ายยิ่งขึ้น

ลูกเจี๊ยบอนามัย ข้อดี ข้อเสีย

ข้อดีของลูกเจี๊ยบอนามัย

  • สะดวกต่อการทำกิจกรรม เนื่องจากลูกเจี๊ยบอนามัยมีการดูดซับประจำเดือนได้ดี โดยเฉพาะเวลาเดินทางที่ไม่สะดวกต่อการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ หรือในวันที่ประจำเดือนมามากจนล้นผ้าอนามัย
  • ลูกเจี๊ยบอนามัยไม่มีเชือกสำหรับถอดโผล่ออกมานอกร่างกาย สะดวกต่อการทำกิจกรรมและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน
  • ผิวสัมผัสนุ่มนิ่ม ทำให้รู้สึกสบายตัวเวลาสวมใส่

ข้อเสียของลูกเจี๊ยบอนามัย

  • อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอด เนื่องจากเป็นจุดที่มีความบอบบางสูง
  • ต้องระมัดระวังขณะถอด เนื่องจากลูกเจี๊ยบอนามัยไม่มีอุปกรณ์ช่วยถอดเหมือนผ้าอนามัยแบบสอด อาจเกิดการเลอะเทอะได้
  • อาจเกิดการฉีกขาดของลูกเจี๊ยบอนามัยขณะสวมใส่หรือดึงออก

ข้อคำนึงถึงในการใช้ลูกเจี๊ยบอนามัย

แม้ว่าลูกเจี๊ยบอนามัยจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะดวกสบายสำหรับสาว ๆ ในช่วงมีประจำเดือน แต่ก็ยังข้อควรคำนึงหลายอย่างที่จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อใช้ลูกเจี๊ยบอนามัยได้อย่างปลอดภัย

ลูกเจี๊ยบอนามัย ข้อควรรู้
  • ควรเปลี่ยนฟองน้ำทุก ๆ 8 ชั่วโมง หรือเร็วกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก
  • ควรใช้ลูกเจี๊ยบอนามัยเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
  • ระวังการลืมนำลูกเจี๊ยบอนามัยออก เนื่องจากอาจทำให้เกิดการตกค้างภายในช่องคลอด ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • หากมีรอบเดือน ควรเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แทนการใช้ลูกเจี๊ยบอนามัย เนื่องจากเป็นช่วงที่ช่องคลอดมีความบอบบางเป็นพิเศษ
  • ไม่ควรใช้เป็นประจำ และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด
  • ควรเลือกซื้อลูกเจี๊ยบอนามัยที่ได้มาตรฐานหรือซื้อจากร้านขายยาที่น่าเชื่อถือ
  • ทำความสะอาดก่อนและหลังใช้ เพื่อรักษาความสะอาด
  • ฟองน้ำอนามัยใช้สำหรับดูดซับประจำเดือนเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการคุมกำเนิดได้

ขั้นตอนการใส่ลูกเจี๊ยบอนามัย

ลูกเจี๊ยบอนามัย วิธีใส่
  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
  2. นำฟองน้ำไปชุบน้ำให้อ่อนตัวลงพร้อมใช้งาน
  3. บิดน้ำออกให้หมาด
  4. นั่งในท่าที่ถนัด เช่น ท่าสควอท นั่งบนชักโครก หรืออาจยืนแล้วยกขาอีกข้างวางบนเก้าอี้
  5. สอดลูกเจี๊ยบอนามัยเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุด เช่นเดียวกับวิธีการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด

ขั้นตอนการถอดลูกเจี๊ยบอนามัย

ลูกเจี๊ยบอนามัย วิธีถอด
  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
  2. นั่งในท่าที่ถนัด อาจเป็นท่าสควอท
  3. ขมิบช่องคลอด แล้วฉีดน้ำเข้าไปเพื่อให้เกิดแรงดันฟองน้ำออกมาให้ใกล้บริเวณปากช่องคลอด
  4. ใช้นิ้วมือ 2 นิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดึงลูกเจี๊ยบอนามัยออกมา โดยพยายามหยิบส่วนที่ลึกที่สุดและบีบให้แรงที่สุด เพื่อป้องกันการฉีกขาด
  5. ล้างทำความสะอาดบริเวณช่องคลอด หลังจากนำลูกเจี๊ยบอนามัยออกมาได้

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากได้รู้จักอีกหนึ่งทางเลือกในวันนั้นของเดือนอย่างลูกเจี๊ยบอนามัยแล้ว คิดว่านี่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหรือไม่ ถ้าใครอยากจะเปิดใจลองใช้ลูกเจี๊ยบอนามัยดูบ้างก็อย่าลืมข้อควรระวังที่เราได้บอกไป เพื่อการใช้งานที่ปลอดภัยต่อน้องสาวอันบอบบางของทุกคนนะคะ

SHARE

RELATED POSTS