Search
Close this search box.
นโยบายจีนเดียว

รวบตึง ‘นโยบายจีนเดียว’
และการต่อต้านของไต้หวันแบบเข้าใจง่าย

‘อะไรคือนโยบายจีนเดียว?’ เราอาจเป็นหนึ่งในคนที่ถามคำถามนี้ หากไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันบนโลกไซเบอร์ของทวิตเตี้ยนชาวไทย และเหล่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่จากการที่น้องไบร์ท วชิรวิชญ์ นักแสดงหนุ่มจากซีรีส์เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ได้ Retweet โพสต์หนึ่งที่ได้เรียกฮ่องกงว่าประเทศ แน่นอนว่าทัวร์จีนลงแบบไม่ต้องสงสัย นั่นเพราะว่านโยบายจีนเดียวเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มองว่าฮ่องกง ไต้หวัน (และประเทศเล็ก ๆ อย่างทิเบตเองก็ด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน

นโยบายจีนเดียว

ดราม่าครั้งนั้นรุนแรงจนส่งแรงกระเพื่อมที่ทำให้ชาวไทยหลายคนได้รู้จัก ‘นโยบายจีนเดียว (One China)’ เป็นครั้งแรก และเริ่มยืนหยัดเป็นเพื่อนชาวฮ่องกง และไต้หวันในการเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศเหล่านั้น จนเกิด Hashtag #MilkTeaAlliance พันธมิตรชานมที่เข้าอกเข้าใจกันในเรื่องของการเรียกร้องสิทธิของประเทศตัวเองเป็นอย่างดี

แล้วอะไรที่ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่มองว่ายังไง้..ยังไงไต้หวัน และฮ่องกงก็คือส่วนหนึ่งของประเทศจีนกันแน่นะ? อย่าพึ่งมองว่านโยบายจีนเดียวมันแสนจะเข้าใจยาก เพราะ Helena ย่อยมาให้แล้ว มาร่วมหาคำตอบ และตื่นรู้ไปกับเราได้เลยค่ะ

นโยบายจีนเดียวคืออะไร?

นโยบายจีนเดียว หรือหลักการจีนเดียว (One China Policy) เป็นจุดยืนที่จีนยื่นต่อประเทศที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศเหล่านั้นต้องเลือกมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China : PRC) หรือจีนแผ่นดินใหญ่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับสาธารณรัฐจีน (Republic of China : ROC) (ไต้หวันนั่นล่ะ) และด้วยนโยบายจีนเดียวนั้น รัฐบาลจีนจึงมีจุดยืนว่า

นโยบายจีนเดียว

“ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่อาจแบ่งแยกจากจีนได้ เพราะถือเป็นบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน

และกลุ่มการเมืองไต้หวันก็ยึดถือนโยบายจีนเดียวเช่นกัน กล่าวได้ว่า แม้จีนจะแบ่งเป็น 2 ดินแดนเอกเทศ แต่ความเป็นประเทศจีนมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ว่าจีนทั้งสองจะกลับมาเป็นแผ่นดินเดียวกันหรือไม่ก็ตาม จะไม่มีการยอมให้ไต้หวันเป็นเอกเทศโดยตัดขาดจากความเป็นจีน

นโยบายจีนเดียว

ย้อนรอยนโยบายจีนเดียว

นโยบายจีนเดียว เป็นนโนบายที่เกิดขึ้นมาในยุคสงครามเย็น (Cold War) หรือเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง นโยบายจีนเดียวถูกเขียนขึ้นเมื่อประเทศจีน (ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงสาธารณรัฐจีน) ได้เกิดสงครามกลางเมืองของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) นำโดย จอมพล เจียง ไคเชก และพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดย เหมา เจ๋อตง ซึ่งผู้ชนะคือพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากนั้น จอมพล เจียง ไคเชก ก็ต้องหลบลี้หนีหายย้ายพรรคพวกไปที่เกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งนามว่าเกาะฟอร์โมซา ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของไต้หวัน

ในที่สุดแล้ว เจียง ไคเช็กก็ได้สถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นบนเกาะไต้หวัน ในขณะที่ เหมา ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นบนจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งสองชาติต่างอ้างตนว่าคือรัฐบาลที่แท้จริงของจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และยึดนโยบายจีนเดียว หรือหลักการจีนเดียวที่เคลมว่าจีนจะมีหนึ่งเดียว ไม่สามารถแยกชาติได้ ชาติของตนจึงมีอำนาจในพื้นที่ทั้งส่วนแผ่นดินใหญ่ รวมไปถึงเกาะไต้หวันด้วย

นโยบายจีนเดียว

อย่างที่ Helena ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า กลุ่มการเมืองในไต้หวันในขณะนั้นต่างก็ยอมรับนโยบายจีนเดียว ซึ่งนำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ของเจียง เพราะพรรคก๊กมินตั๋งเป็นพรรคที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนในปี 1911 (การโค่นล้มราชวงศ์ชิง) แม้จะพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จนต้องหนีมาก่อตั้งพื้นที่ใหม่ แต่พรรคก๊กมินตั๋งก็ยังอ้างสิทธิ์เหนือจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์นะคะ

มาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราทุกคนน่าจะสัมผัสได้คงเป็นความรักชาติไม่เสื่อมคลายของคนจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ในสมัยนั้น แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นการต่อต้านนโยบายจีนเดียว และความต้องการอยากครอบครองเอกราชเป็นของตนเองของชาวไต้หวันที่ไม่เรียกตัวเองว่าจีนแผ่นดินใหญ่กันนะ?

นโยบายจีนเดียว

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DDP: Democrat Progressive Party)
ตัวจี๊ดจุดประกาย ล้างนโยบายจีนเดียว

แม้ในไต้หวันจะมีกลุ่มที่ยอมรับนโยบายจีนเดียว เพราะยังมีใจที่ผูกไว้กับชาติบ้านเกิด แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับ! นั่นก็คือพรรค DPP พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียว พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีแนวคิดสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันที่ตัดขาดจากจีน (Taiwanization) ซึ่งกระบวนการนี้จะนำไปสู่การสร้างประเทศไต้หวันที่เป็นอิสระเสรี ไม่มีความเกี่ยวข้องกับจีนในทางการเมือง แยกเป็นอิสระชัดเจน เพราะไหน ๆ ไต้หวันก็มีวัฒนธรรม อารยธรรมเป็นของตัวเองแล้ว จะทิ้งความศิวิไลซ์ตรงหน้าไปทำไม

โดยสรุปก็คือ ในไต้หวันเองก็มีกลุ่มที่ยอมรับนโยบายจีนเดียว หรือ สหพรรคสีน้ำเงิน (Pan-Blue) นำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง และมีกลุ่มต่อต้านนโยบายจีนเดียวสนับสนุนเอกราช นั่นคือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) หรือ สหพรรคสีเขียว (Pan-Green) มีนโยบายสำคัญคือสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน

นโยบายจีนเดียว

เชื่อมั่นในความเป็นจีนแบบ “ไต้หวัน”

ชาวไต้หวันฝั่งเขียวมีความคิดเชื่อมั่นว่า แม้พวกเขาจะพูดภาษาจีนกลางเฉกเช่นคนจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ไต้หวันดั้งเดิมในสมัยที่พรรคก๊กมินตั๋งยังไม่อพยพมาก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายอยู่แล้ว มีภาษาจีนท้องถิ่นที่ใช้ตัวเขียนคนละตัว สำเนียงคนละเสียง และห่างเหินทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ นั่นเพราะไต้หวันเป็นเกาะทางตอนใต้ที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางการปกครองสุด ๆ แถมในปลายราชวงศ์ชิงก็ยังตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น แทบจะไม่ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่เลย จนกระทั่งพรรคก๊กมินตั๋งระหกระเหินย้ายมาปักหลักบนเกาะไต้หวันนั่นแหละ

ชาวไต้หวันฝั่งเขียวเลยมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดทางด้านการเมืองการปกครอง และสิทธิเสรีภาพที่ไม่เหมือนคนจีนแผ่นดินใหญ่ พวกเขาจึงพยายามใช้ความเป็นตัวเองนี้สร้างอัตลักษณ์ที่จำเพาะเจาะจงขึ้นมาให้ต่างจากจีน และไม่เคยเคลมวัฒนธรรมของตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่ง หรือมีรากเหง้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่เลย สิ่งที่แตกต่างกับจีนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ ทำให้พวกเขาไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนจีนแบบ Chinese แต่พวกเข้าเป็น Taiwanese ต่างหาก

นโยบายจีนเดียว

ความพยายามในการสร้าง Taiwanization

นโยบายจีนเดียวทำให้สหพรรคฝั่งเขียวพยายามอย่างมากเพื่อที่จะสร้างความเป็นไต้หวัน (Taiwanization) ด้วยการพยายามลดความเป็นจีน (Desinicization) ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ แต่มีหรือที่สหพรรคฝั่งน้ำเงินผู้ซึ่งเคารพในนโยบายจีนเดียวจะยอม พรรคก๊กมินตั๋งเองได้ออกมาคัดค้านอย่างมาก และแนวคิด Taiwanization ก็ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มจะเดือดหน่อย ๆ จึงตอบโต้ผ่านกฎหมายต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2005 มีข้อใหญ่ใจความว่า “หากไต้หวันประกาศเอกราช จีนก็จะตอบสนองด้วยการใช้วิธีที่ไม่สันติ” ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังนั่นเอง

นโยบายจีนเดียว

หากถามถึงความเป็นไปได้ที่ชาวไต้หวันจะเห็นพ้องต้องกันถึงคุณค่าของนโยบายจีนเดียว หรือ One China และกลับมาเป็นจีนแผ่นเดียวกัน (ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารากเหง้าของพวกเขาก็มาจากที่นั่น) ก็ขอบอกตามตรงว่ายากเหลือเกิน เว้นเสียแต่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะยอมรับใน “ความเป็นไต้หวัน” ทั้งค่านิยม วัฒนธรรม และความคิดประชาธิปไตยของพวกเขาได้ แถมทุกวันนี้เสียงส่วนมากก็เทไปที่สหพรรคฝั่งเขียวแบบไม่ต้องสืบ และยิ่งภาพความรุนแรงจากการปราบปรามผู้ชุมนุมในฮ่องกงยังส่งมาตอกย้ำเรื่อย ๆ ก็ยากที่ประชาชนจะอยู่ใต้อำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ บทสรุปเรื่องนี้คงไม่มีใครคาดเดาได้ เราคงต้องติดตามกันต่อไป ถ้ามีอะไรคืบหน้า Helena จะนำมาอัปเดตให้อีกนะคะ