ชวนสายลุยเดินป่าแบบมือโปร
เตรียมตัวให้ดีไม่มีพลาด!
ปลายฝนต้นหนาวเป็นฤดูกาลแห่งการเดินป่า และแคมป์ปิ้งจริง ๆ เพราะธรรมชาติจะชอุ่มชุ่มชื้น มองไปทางไหนก็เขียวสดชื่น อากาศก็น่าเดินสุด ๆ Helena เองก็เป็นสายลุยที่หลงรักการเดินป่าไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าแบบไฮกิ้ง (Hiking) ที่เป็นการเดินเข้าไปในเส้นทางธรรมชาติแบบไปเช้าเย็นกลับ ไม่ต้องค้างคืน อุปกรณ์ไม่ต้องเยอะ หรือการเดินป่าแบบเทร็กกิ้ง (Trekking) ที่เป็นการเดินป่าในระยะทางที่ไกลกว่า เข้าไปตั้งแคมป์ค้างคืน และอาจจะบวกด้วยเส้นทางที่โหดหิน และต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากกว่า
สำหรับสาว ๆ มือใหม่ที่อยากเดินป่าไม่ว่าจะทางใกล้ หรือไกลอย่างมือโปร เราก็มีทิปส์เตรียมตัวในการเดินป่ามาฝาก ให้เหมือนเราเตรียมตัวมาอย่างดีไม่มีทุลักทุเล ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเช็กกันได้เลย
1.เตรียมความพร้อมก่อนเดินป่า
สาว ๆ ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า นอกจากใจที่พร้อมจะลุยไปข้างหน้า ร่างกายของตัวเองนั้นพร้อมสำหรับการเดินป่าในทางที่เดี๋ยวชันเดี๋ยวราบเป็นระยะเวลานานหรือไม่ มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับร่างกายบ้างไหม โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหากับระบบทางเดินหายใจ ผู้ที่เคยผ่าตัดเข่า มีปัญหากับกระดูก หรือป่วยง่าย เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือที่เข้าถึงตัวได้ช้าอาจสร้างความสูญเสียมากกว่าที่คิด แต่ถ้าหากไม่ติดอะไร การซ้อมเดินชันเป็นระยะเวลานานบนลู่วิ่งเพื่อฝึกความอึดให้กับปอด และสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อขาก็เป็นทางลัดในการเตรียมความพร้อมก่อนเดินป่าจริงได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ
2. ศึกษาสถานที่เดินป่าให้ดี
ก่อนจะเดินป่า สาว ๆ ควรศึกษาก่อนว่าอุทยาน หรือป่าที่จะไปมีลักษณะของป่าเป็นแบบไหน ทางเดินบุกป่าฝ่าดงมากน้อยเท่าไหร่ หรือใช้ระยะเวลาทั้งหมดกี่ชั่วโมงในการเดิน ซึ่งการเช็กข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ จะทำให้เราเตรียมประเภทรองเท้าที่ใช้เดินป่าได้ถูกประเภท หรือจะต้องแพ็คน้ำติดตัวไปกี่ขวดถึงจะเพียงพอ
3. อย่าลืมเช็กสภาพอากาศในวันที่เดินป่า
การเช็กสภาพอากาศล่วงหน้าก่อนเดินป่า แม้เราจะรู้ดีว่ามันอาจไม่เสถียร แต่ก็เป็นการทำนายล่วงหน้าว่าเราจะต้องเจอกับสภาพอากาศประมาณไหน หากมีฝนตกเราจะได้วางแผนว่าเราควรจะต้องเตรียมเต็นท์ เปล หรือ Fly Sheet ติดตัวไปด้วยหรือเปล่า และสาว ๆ จะได้เตรียมหยูกยาได้ทันด้วย
4. จองบริการล่วงหน้า
หลาย ๆ สถานที่มักจะจำกัดจำนวนคนเดินป่าต่อวัน หรือมีระยะเวลาในการเปิดป่าให้เดินเพียงไม่กี่เดือนต่อปี สาว ๆ จึงควรเช็กกับเจ้าหน้าที่ให้มั่นใจว่ายังเปิดให้บริการเป็นปกติ และระบุจำนวนในการจองให้ชัดเจน จะได้ไม่ไปเก้อ อดเดินป่ากันพอดี
5. เตรียมอุปกรณ์เดินป่าให้พร้อม
ในหลาย ๆ อุทยานจะมีบริการจ้างลูกหาบสำหรับการเดินป่า แต่หลาย ๆ ที่ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นสาว ๆ ควรแพ็คของใช้ส่วนตัวให้มีน้ำหนักพอดี และมั่นใจว่าสามารถแบกทั้งหมดเองได้ขณะเดินทางไกลในเวลาหลายชั่วโมง อย่าลืมศึกษาเทคนิคการแพ็คกระเป๋าแบบกันน้ำ ที่ไม่ว่าจะเดินป่าหน้าฝน หรือที่ไม่ใช้หน้าฝนก็ตาม กระเป๋าก็อาจจะเปียกจากหมอก การตกน้ำ หรืออื่น ๆ เราขอแนะนำให้แพ็คทุกอย่างแบบกันน้ำไว้ดีกว่า ของที่อยู่ในกระเป๋านั้นจะได้ไม่เปียก
6. ศึกษาวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ศึกษาเทคนิคการเดินป่าในทางราบ สันเขา ทางชัน หรือทางลง ซึ่งสภาพดินก็อาจจะแปลเปลี่ยนไปตามอากาศ น้ำฝน หรือแม้แต่หมอก อาจทำให้เราลื่นได้ถ้าไม่ระวังตัวมากพอ รวมถึงศึกษาวิธีเอาตัวรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อย่างน้ำป่าไหลหลาก หรือแผ่นดินไหว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ How to Survive: ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
7. ไม่ทิ้งร่องรอยไว้
สิ่งที่สาว ๆ ควรตระหนักไว้เวลาเดินป่า หรือเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่าง ๆ คือการเที่ยวอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ ไม่ว่าจะเป็นขยะ หรือการทิ้ง Footprint ของเราลงบนทรัพยากรธรรมชาติ การเดินป่าซึ่งไม่มีห้องน้ำให้เราใช้อาบน้ำ ทิชชู่เปียกจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างมากในการเอาไว้เช็ดตัวให้พอสบาย เช็ดไม้เช็ดมือให้สะอาด แต่ถ้าจะใช้ในการทำธุระหนักเบา เราขอแนะนำให้ใช้เป็นกระดาษชำระแทน (ที่ถ้าสามารถเลือกแบบผลิตจากวัสดุย่อยสลายง่ายจะดีมาก) เพราะกระดาษชำระย่อยสลายได้ง่ายกว่าทิชชู่เปียกมากเลยแหละ และอย่าลืมหาถุงขยะกองกลางไว้ทิ้งเศษขยะต่าง ๆ ไม่ทิ้งเรี่ยราดตามทางนะ
แค่รู้จักร่างกายตัวเอง และเตรียมตัวให้พร้อม และเที่ยวอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ใคร ๆ ก็สามารถเดินป่าได้ ถ้ามั่นใจแล้วก็แพ็คกระเป๋า จองตั๋ว ใส่หมวกให้กระชับ แล้วเดินเข้าป่ากันได้เลยค่ะ