ภัยเงียบของผู้หญิง ‘มะเร็งปากมดลูก’
อาการเตือน และวิธีรักษา
สาว ๆ ทราบไหมคะ ว่ามะเร็งตัวไหนพบได้มากในผู้หญิง? คำตอบก็คือ ‘มะเร็งปากมดลูก’ ไงล่ะ เจ้ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในเพศหญิงที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม (สถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553) และมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 14 รายต่อวันเลยทีเดียว อาจด้วยความไม่เข้าใจในโรคนี้มากพอ หรือละเลยการสังเกตร่างกายของตัวเอง กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกเข้าแล้วก็สายเกินแก้ Helena เลยอยากชวนสาว ๆ หมั่นสังเกตร่างกายตนเองจากการสังเกตอาการเบื้องต้นของมะเร็งปากมดลูก และศึกษาวิธีรักษาเบื้องต้นไปพร้อม ๆ กันกับเรา
สิ่งควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่ผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือ ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นตัวกระตุ้นให้เนื้องอกโตขึ้น
สาเหตุหลัก ๆ ของการเป็นมะเร็งปากมดลูกมาจาก “การติดเชื้อ HPV” เชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และการมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน! ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลยเพราะคิดว่า ‘ฉันมีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่มีภาวะเสี่ยงแน่นอน’ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อสาว ๆ ได้รับเชื้อ HPV แล้วจะไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าเชื้อนั้นจะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง
นอกจากการติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกด้วย เช่น
- การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานผักผลไม้น้อยเกินไป
- รับประทานยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่า 5 ปี)
- การตั้งครรภ์หรือมีบุตรหลายคน
- ภูมิคุ้มกันไม่ดี
- การละเลยไม่ไปตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (อายุต่ำกว่า 17-18 ปี) เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูง โดยเฉพาะเชื้อ HPV
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะทำให้โอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV จากฝ่ายชายเพิ่มสูงขึ้น
- ไม่รักษาความสะอาดบริเวณช่องคลอด หรือปล่อยให้มีแผลอักเสบที่ปากมดลูกโดยไม่รักษา
อาการแบบไหน ใช่มะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกมักจะไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น เพราะฉะนั้นเราทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจภายใน หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยใช้วิธีการตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์ อาการผิดปกติที่มักจะพบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก มีดังนี้
- ประจำเดือนมามากขึ้น และมีเลือดออกยาวนาน หรือมีอาการปวดท้องประจำเดือนผิดปกติ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ท้องบวมที่ท้องน้อย เนื่องจากก้อนเนื้อใหญ่ขึ้น และสาว ๆ อาจคลำพบก้อนได้เอง
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากเนื้องอกที่โตไปกด หรือเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูกเรื้อรังเนื่องจากเนื้องอกที่โตไปเบียดลำไส้ และทวารหนัก
- มีบุตรยาก หรือแท้งง่ายเพราะเนื้องอกขัดขวางการเจริญเติบโตของทารก หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน
- ตกขาวมากผิดปกติ ทั้งที่เป็นน้ำ และข้นเป็นมูก บางรายอาจมีเลือด หรือหนองปน
- เลือดออก หรือมีอาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือปวดท้องน้อยร่วมด้วย
แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูก
การผ่าตัดรักษา ในการรักษาโดยการผ่าตัดนั้นจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ขั้นต้น ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นบริเวณปากมดลูก และช่องคลอด
การใช้รังสีรักษา เป็นการรักษาสำหรับมะเร็งระยะที่ 2 ขึ้นไป หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดรักษาหรือให้ยาเคมีบำบัดได้
การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาสำหรับมะเร็งระยะลุกลาม โดยการให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว หรือรักษาร่วมกับวิธีอื่น เช่น การใช้รังสีร่วม
การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดปริมาณประจำเดือน ยาบรรเทาปวด ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีขนาดก้อนเนื้อมะเร็งเล็ก ๆ เท่าผลมะนาว
แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการรักษามะเร็งปากมดลูก แต่วิธีส่วนใหญ่มักจะมีผลข้างเคียงจากการรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงทั้งทางกาย และใจ รู้อย่างนี้แล้ว สาว ๆ ก็สามารถเลือกที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ การรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโตขึ้นได้
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/
https://www.sikarin.com/content/detail/