จ้องคอมนานจน ‘ตาล้า’
ดูแลยังไงให้ตากลับมาสวยปิ๊ง
สาว ๆ หลายคนน่าจะประสบกับปัญหาตาล้า ปวดตาตุ่ย ๆ หรือรู้สึกเมื่อยตาจากการจ้องหน้าคอมนาน ๆ ใช่ไหมคะ? แถมบางคนยังไม่รู้ตัวอีกว่าพฤติกรรมที่ทำจนชินอย่างการเล่นโทรศัพท์ตอนปิดไฟแล้วนี่แหละตัวการทำร้ายดวงตาคู่สวยของเรา และสามารถกลายพันธ์จากอาการตาล้าธรรมดา ๆ ไปสู่อาการปวดหัวไมเกรนตุ้บ ๆ ที่เป็นทีนึงแทบจะทำอะไรไม่ได้
วันนี้ Helena จะพาสาว ๆ มาเท้าความอาการตาล้า แถมโปะด้วยวิธีดูแลตาล้าแบบพูนถ้วย เพื่อให้สาว ๆ ได้รู้ที่มาของอาการตาล้า ที่อาจนำพาสุขภาพเราให้ดิ่งลงตาม ๆ กัน มารีบป้องกันอาการตาล้าก่อนจะสายไปเถอะ
แบบไหนคืออาการตาล้า
ตาล้า (Asthenopia) นั้นไม่ใช่โรค หรือภาวะความบกพร่องโดยตรง แต่เป็นความรู้สึกที่มันล้า ๆ ชา ๆ ที่ดวงตาจนเราสัมผัสได้ โดยอาการตาล้ามีข้อบ่งชี้ดังนี้
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา
- ปวดหัวตึ้บ ๆ
- ตามัว และบางครั้งมองเห็นภาพซ้อน
- บางครั้งอาจมีอาการปวดตา ตาแดง และตากระตุกร่วมด้วย
- รู้สึกระคายเคืองบริเวณรอบดวงตา โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตาเนื่องจากทำงานในสภาพแสงสว่างไม่เพียงพอ หรือมีลักษณะของท่านั่งทำงานไม่เหมาะสม
หากเราดูแลอาการตาล้าด้วยการพักผ่อนที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ ก็จะทำให้อาการตาล้าทุเลาลง และหายสนิทได้ แต่หากปล่อยไว้ ก็มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และมีโอกาสทำงานผิดพลาดมากขึ้น
สาเหตุของอาการตาล้า
สาเหตุของอาการตาล้ามักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องอยู่ในที่ทำงาน หรือเกิดขึ้นในขณะที่กำลังพยายามเพ่งสายตา จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ๆ อย่างการเพ่งอ่านหนังสือนาน ๆ ใช้สายตาตอนขับรถนานเกินไปโดยไม่หยุดพัก รวมถึงเล่นโทรศัพท์ในห้องมืด ๆ หรือที่สาว ๆ ชอบเล่นกันก่อนนอนนั่นแหละ (เราก็เป็น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับดวงตา ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อตาล้าได้
ตาล้าจึงสามารถกล่าวแบบรวบรัดฉับไวได้ว่าเป็นอาการที่ดวงตาเกิดภาวะตึงเครียดนั่นเอง ซึ่งอาการที่ตามมาอาจเป็นการโฟกัสภาพ หรือมองเห็นได้ยากขึ้น มีปัญหาตาแห้ง ปวดศีรษะ หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่โรคการมองเห็นอันเนื่องมาจากคอมพิวเตอร์ แต่ใช่ว่าสาเหตุของอาการตาล้าจะมาจากพฤติกรรมของเราแต่เพียงอย่างเดียว อาหาร หรือยาบางชนิดที่กินก็มีฤทธิ์ทำให้ตาแห้งได้เช่นกันนะ
กระซิบอีกนิดว่า อาการตาล้าอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นสำหรับคนที่มีปัญหาสายตาอย่างอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสายตาเอียง สั้น หรือยาว ก็มีสิทธิ์เกิดอาการตาล้าสูงกว่าคนที่มีค่าสายตาเป็นปกติ
บอกลาอาการตาล้าแค่ทำตามวิธีเหล่านี้
1. กรอกตา พร้อมมองบน
ตาไปมาจากซ้ายไปขวา จากนั้นสลับมากรอกตาจากบนลงล่าง ทำต่อเนื่องกัน 5 – 10 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการตาล้า หรือปวดตาได้
2. พักสักนิด ลดตาล้า
พักสายตาถี่ ๆ ในกรณีที่ต้องจอหน้าจอ หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน เพราะว่าการสัมผัสแสงสีฟ้าจากหน้าจอเป็นเวลานาน ล้วนทำให้เราปวดตา และส่งผลต่อสุขภาพตาในอนาคต (ไม่นับอาการนอนไม่หลับด้วยนะ) ดังนั้นควรพักสายตาทุกครึ่งชั่วโมง โดยมองไปทางอื่น มองออกไปไกล ๆ หรือมองไปยังที่ ๆ มีสีเขียวเยอะๆ จะช่วยให้อาการตาล้าดีขึ้นได้
3. แก้ตาล้า ด้วยอาหาร
หากหลีกเลี่ยงการใช้สายตาไม่ได้ สาว ๆ ก็ควรหาวิตามินมาบำรุงสายตา รวมไปถึงเน้นกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง อย่างผัก ผลไม้หลากสี รวมไปถึงผักใบเขียว
4. ปรับระดับคอมให้บาลานซ์ ลดตาล้าได้
ปรับคอมพิวเตอร์ให้เป็นมิตรกับตัวเองเพื่อลดอาการตาล้า เช่น ปรับให้ความสว่างอยู่ในระดับที่เหมาะสม ปรับขนาดตัวอักษรให้สามารถอ่านหรือพิมพ์งานได้อย่างสบายตา ปรับแสงไฟในห้องทำงาน หรือบริเวณโดยรอบให้พอดี
5. ลองตรวจสายตาเมื่อมีอาการตาล้า
อย่าคิดว่าตาล้าเป็นเรื่องชิล ๆ จนเราชะล่าใจ สาว ๆ ควรจัดคิวไปพบจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางสายตา เพื่อรับการตรวจวัดสายตาเป็นประจำ เพราะปัญหาบางอย่างอาจไม่ได้มีอาการบ่งชี้ชัดเจนจนเราสังเกตเห็นด้วยตัวเองได้
อาการตาล้าไม่เข้าใครออกใครเลยนะคะ แถมดวงตาของเราก็บอบบางกว่าที่คิด เพื่อเป็นการปกป้องดวงตาคู่สวยของสาว ๆ Helena จึงอยากให้สาว ๆ หันมาใส่ใจ และดูแลดวงตาให้ถูกวิธี ใช้ดวงตาอย่างทนุถนอม เลือกกินอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา หาอุปกรณ์เสริมอย่างแว่นกรองแสงมาใส่ ไม่เล่นโทรศัพท์เมื่อปิดไฟ รวมถึงการหาเวลาว่างเพื่อตรวจสายตาเป็นประจำก็จะช่วยยืดอายุดวงตาของเราไปได้อีกนาน และถ้าหากพบปัญหาเกี่ยวกับดวงตาเข้าล่ะก็ ขอแนะนำให้พบแพทย์ทันที แม้จะเป็นแค่อาการตาล้า เจ็บตาเล็ก ๆ ก็ตาม อย่าได้นิ่งนอนใจเชียวล่ะ