คุณผู้หญิงเช็กด่วน !
อาการแบบนี้วัยทองมั้ยนะ ?
สิ่งที่คุณผู้หญิงทุกคนต้องพบเจอกันอย่างแน่นอนคือภาวะวัยทอง หรือ ภาวะหมดประจำเดือน วัยทองคืออะไร จะมาช่วงไหน แล้วจะรับมือยังไงในช่วงวัยทอง มาตามดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ เพราะ Helena ได้รวบรวมสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัยทองไว้ให้แล้ว
วัยทองคืออะไร ?
วัยทองคือสภาวะที่ร่างกายของคุณผู้หญิงเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน ทำให้รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงอย่าง เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คือ ไม่มีประจำเดือน และถ้าหากประจำเดือนไม่มาติดต่อกันถึงประมาณ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ไม่สามารถผลิตไข่ได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งอาการวัยทองนั้นมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วงอายุ 45 – 55 ปี โดยหากจะเฉลี่ยอายุก็จะอยู่ที่ 51 ปี โดยอาการวัยทองนั้นแบ่งเป็นทั้ง 3 ระยะ ระยะที่ 1 คือช่วงก่อนหมดประจำเดือน ระยะนี้จะมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ มีอาการร่วมกับร่างกายต่าง ๆ เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ ระยะนี้เกิดประมาณ 2 – 3 ปี ระยะที่ 2 ระยะหมดประจำเดือน เป็นระยะที่มีการหยุดผลิตไข่ของรังไข่ทำให้ไม่มีประจำเดือน ระยะนี้เกิดประมาณ 1 ปี และระยะที่ 3 ระยะหลังหมดประจำเดือน เป็นระยะที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเช่น ช่องคลอดตีบ กระดุกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
อาการไหนบ้างที่ชี้ว่าเข้าสู่วัยทอง
1. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เพราะการเข้าสู่ช่วงวัยทองคือช่วงที่ผู้หญิงเราหมดประจำเดือนทำให้ในระยะที่เริ่มเข้าสู่วัยทองนั้นประจำเดือนอาจจะมา ๆ หาย ๆ หรือไม่มาเลยหลายเดือนก็เป็นไปได้
2. อาการร้อนวูบวาบ อาการนี้มักจะเกิดเฉพาะร่างกายส่วนบนของผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยทอง จะสังเกตได้คือ แก้มและคอ จะมีอาการแดง เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน ในผู้หญิงบางรายก็จะมีอาการหนาวสั่น จนทำให้นอนไม่หลับได้
3. ผิวหนังจะแห้งและบางลง ในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองคือในช่วงที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำให้ผิวหนังแห้งลง บางลง มีอาการคันตามผิวหนัง ลักษณะเหมือนมีมดไต่ มดกัดตามบริเวณผิวหนัง
4. เส้นผมจะหยาบแห้ง บางลง และหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายของการเข้าสู่ช่วงวัยทองทำให้คุณหญิงทั้งหลายมีอาการเส้นผมแห้งกร้าน บางลง ผมร่วงง่ายมากขึ้น ไม่ดกดำเงางามเหมือนแต่ก่อน
5. มีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ผู้หญิงในช่วงวัยทองจะมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อแต่ละส่วน ปวดตา หรือรวมไปถึงอาจจะปวดกระดูกด้วยในบางราย
6. อารมณ์ไม่คงที่ ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองมักจะมีอาการที่เห็นได้ชัดเลยคือ มีอารมณ์ที่ไม่คงที่ ขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวโกรธง่าย เครียดง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ในบางรายอาจจะมีอาการหลงลืมที่ง่ายมากขึ้น ปวดหัววิงเวียนศีรษะ รวมไปถึงการเกิดอาการซึมเศร้าได้
7. อารมณ์ทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง ในช่วงวัยทองเป็นช่วงที่ฮอร์โมนของเพศหญิงลดลงไปในบางรายก็ทำให้มีอารมณ์ทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง ซึ่งในบางรายอาจจะทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบตามมาได้ด้วย
รับมือยังไงกับช่วงวัยทอง
1. พยายามงดและเลี่ยง การรับประทานของที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ สารเสพติด เครื่องดื่มมึนเมา รวมไปถึงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
2. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ การเลือกทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างการ การทานให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกากใย ผักสีเขียว ผลไม้ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
3. เสริมแคลเซียมให้ร่างกาย เพราะอาการที่ตามมาหลังวัยทองคือกระดูกพรุนดังนั้นการเสริมแคลเซียมให้กับร่างกายจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยทองให้พร้อมก่อน ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียมจากนม อาหารเสริม ก็ดีต่อร่างกายในปริมาณที่พอดี
4. ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ผู้หญิงช่วงวัยทองมักมีปัญหาการปวดตามเนื้อตัว ดังนั้นการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็สามารถช่วยได้ แต่ในบางรายที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อน
5. พักผ่อนอย่างจริงจัง เพราะช่วงวัยทองเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายกำลังแปรปรวนอาจจะทำให้เกิดความเครียดได้โดยไม่รู้ตัวดังนั้นเราควรที่จะหาเวลาให้ตัวเองได้ทำสิ่งที่ชอบเพื่อลดความเครียด
6. พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์กับคุณสามี เพราะในช่วงของการเป็นวัยทองอาจจะทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงได้ง่าย การพูดคุยกับสามีในเรื่องของเพศสัมพันธ์ที่อาจจะไม่เหมือนเดิม ก็สามารถช่วยลดปัญหาครอบครัวได้
7. ตรวจสุขภาพ การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทอง ที่อาจจะเกิดการแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ได้ง่าย การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรทำเป็นอย่างมาก
เข้าสู่วัยทองแล้วทำยังไงได้บ้าง
หลังจากการเข้าสู่ช่วงวัยทองของคุณผู้หญิงแล้ว ปัญหาที่เกิดหลัก ๆ คือการที่ร่างกายไม่ได้ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญสำหรับเพศหญิงออกมาคือฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำให้ร่างกายของคุณผู้หญิงนั้นเกิดความไม่สมดุลในร่างกาย จนเกิดภาวะต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นในบางรายแพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนในช่วงของการเริ่มเข้าวัยทองเพื่อช่วยลดอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน รวมไปถึงการป้องกันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะยาว เช่น ภาวะกระดูกพรุน ซึ่งหากใครที่ต้องการใช้ฮอร์โมนทดแทนในช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยทองก็สามารถปรึกษากับคุณหมอได้เลย เพื่อที่จะได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่พอดีและไม่เป็นโทษต่อร่างกาย
สำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยทองนั้น Helena เองก็อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองดี ๆ นะคะ หมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยทองได้อย่างราบรื่นค่ะ เพราะว่าวัยทองเองก็ไม่ได้น่ากลัวแบบที่เราคิด เพียงแค่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวัยทองให้ดี เราก็จะเข้าสู่วัยทองได้อย่างสบาย ๆ เลยค่ะ