“ผู้หญิง” กับ “การเสพติด” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ผู้หญิง

“ผู้หญิง” กับ “การเสพติด” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ปัญหาการเสพติดไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ให้ผลลัพท์ที่เลวร้ายไม่ต่างกัน แต่สำหรับผู้หญิงแล้วการเสพติดของพวกเธอมีความซับซ้อนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยความหลงผิดที่ว่าสารเสพติดบางอย่างจะช่วยให้ผอมสวยหรือผิวขาวใส หรือช่วยให้มีพลังวังชาในการรับมือกับสารพัดภารกิจที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตไปจนถึงการรับมือกับความเจ็บปวดที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะต้องเจอมากกว่าอีกทั้งการเสพติดของผู้หญิงยังส่งผลอันตรายต่อร่างกายของพวกเธอมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้หญิงกลับไม่ค่อยกล้าเข้ารับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะด้วยความกลัวการถูกตีตราจากสังคมความไม่มั่นใจ หรือความอับอาย การทำความเข้าใจทุกด้านของการเสพติดในผู้หญิงจะช่วยให้เราสามารถช่วยผู้ที่มีปัญหาการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือคนอันเป็นที่รักได้ดียิ่งขึ้น การเสพติด…โรคร้ายที่หญิงและชายแตกต่างกัน จริงๆ แล้วความเป็นผู้หญิงอาจไม่ได้มีอะไรด้อยไปกว่าผู้ชาย แต่ด้วยสภาพร่างกายที่แตกต่าง และสังคมที่ “ชายเป็นใหญ่” มาแต่ไหนแต่ไร ก็ดูเหมือนจะทำให้คำกล่าวที่ว่า “เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก” นั้น เป็นเรื่องจริงอยู่หลายส่วน และคำกล่าวนี้ก็ดูเหมือนจะจริงอย่างมากด้วย เมื่อพูดถึง “การเสพติด” ที่ไม่ได้เป็นแต่เพียงปัญหาสังคม แต่ยังเป็น “โรคร้าย” ที่ทำลายชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่หากเกิดการเสพติดขึ้นมาแล้ว การรับมือกับโรคร้ายนี้ดูจะยากลำบากกว่าผู้ชายในหลายๆ ด้าน ด้วยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงปัญหาการเสพติดในผู้หญิง ที่แตกต่างไปจากผู้ชาย เพิ่งจะไม่นานมานี้เองที่เริ่มมีการศึกษาเรื่องผู้หญิงกับการเสพติดอย่างจริงจังมากขึ้น และทำให้เราเริ่มเห็นภาพของผู้หญิงกับการเสพติดชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงหลายอย่างของการเสพติด ที่แตกต่างกันเนื่องมาจาก “เพศสภาพ” อย่างเช่น การศึกษาของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ ชี้ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มพึ่งพิงสารเสพติดและเกิดการเสพติดในเวลาที่เร็วกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มของการกลับมาเสพซ้ำมากกว่าผู้ชาย การศึกษาวิจัยในแคนาดาชี้ว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดความเสียหายของตับ สมอง และหัวใจเนื่องจากการดื่มเหล้ามากกว่า ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะ “โอเวอร์โดส” หรือใช้ยาเสพติดเกินขนาดมากกว่าผู้ชาย ผลกระทบเหล่านี้มาจากปัจจัยสำคัญก็คือความแตกต่างทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งการศึกษาชี้ว่าฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญต่อสารในสมองที่ส่งผลต่อการติดสารเสพติด […]