Say ‘No’
เรียนรู้วิธีที่จะปฏิเสธ แบบไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิด
คุณใช่ไหม? ที่คอยช่วยเหลือคนอื่นตลอดเวลา
คุณใช่ไหม? ที่ไม่ว่าใครถามอะไรก็ตอบ ‘ได้ค่ะ’ ทุกครั้ง
คุณใช่ไหม? ที่อยากตอบปฏิเสธ แต่ก็ไม่กล้าตลอด
สถานการณ์ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องรู้สึกลำบากใจกับเรื่องของการปฏิเสธ ในเรื่องของการช่วยเหลือ มีน้ำใจ ฝากเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือทำธุระแทนกันบ้าง ถ้ามองในมุมโลกแห่งความจริงแล้ว การช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราตอบรับทุกครั้ง ไม่ปฏิเสธอะไรเลย อาจจะส่งผลเสียตามมาได้ในภายหลัง นอกจากจะทำให้เหนื่อยมากกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นแล้ว ยังไม่มีเวลาพักผ่อนส่วนตัว และบางครั้งอาจเกิดการถูกเอาเปรียบได้อีกต่างหาก
วันนี้ Helena Thailand มีทางออกมาให้ สำหรับคนขี้เกรงใจที่มักตอบแค่คําว่า ได้ หรือ ใช่ กับ 8 วิธีการปฏิเสธยังไงไม่ให้รู้สึกผิดกับตัวเอง
1. ไม่ต้องรู้สึกผิด
มารื้อความคิดกันใหม่ก่อนว่า การปฏิเสธคนที่ขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่ การทำร้ายใคร แค่บอกให้เขาเข้าใจว่าเราไม่สะดวก เพื่อให้เขาได้ลองช่วยเหลือตัวเองหรือหาคนที่ช่วยได้มาทำแทน เพราะฉะนั้น เราต้องเลิกรู้สึกผิดก่อนนะ!
2. แสดงจุดยืนที่ชัดเจน
การที่เรามีจุดยืนชัดเจน จะช่วยให้พูดคำว่า ‘ไม่’ ในแต่ละครั้ง ให้รู้สึกผิดน้อยลง เพราะเราบอกกับตัวเองได้ว่าทำไมถึงต้องปฏิเสธ มีเหตุผลอะไร เช่น ตั้งใจไว้แล้วว่าวันหยุดสัปดาห์นี้อยากอยู่กับครอบครัว ก็สามารถบอกปฏิเสธแพลนอื่นไปได้ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดเลย
3. พูดออกไปและบอกเหตุผล Just say it!
ทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรารู้สึกอะไร ปฏิเสธอย่างจริงใจและซื่อสัตย์ หากรับปากไปโดยที่ไม่เต็มใจ แล้วจะไม่ทำสิ่งนั้นในภายหลัง อาจส่งผลที่ไม่ดีตามมา หรือกลายเป็นข้อผูกมัดที่จะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้
4. ต่อรอง ยื่นข้อเสนอ
เมื่อเราไม่สะดวกช่วยเหลือเขาในครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว ไม่ได้หมายความว่าครั้งหน้าหรือโอกาสอื่นเราจะไม่สามารถช่วยเขาได้ อาจจะปฏิเสธเป็นเรื่องๆ ไป เช่น เสนอเรื่องอื่นที่เราสะดวกใจ อาจทำให้อีกฝ่ายยินดีมากกว่า
5. บอกอย่างสุภาพ
การแสดงออกอย่างสุภาพแม้จะเป็นเรื่องของการปฏิเสธ ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำเสมอ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย
6. อย่าพึ่งปฏิเสธทันที
หากเรารีบตอบปฏิเสธในทันทีที่ขอความช่วยเหลือ อาจทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกได้ง่ายกว่า เราควรขอเช็ควัน เวลาว่างดูก่อน แล้วค่อยบอกปฏิเสธก็ได้
7. เห็นแก่ตัวบ้าง
เรื่องการเห็นแก่ตัวอาจจะฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นบางครั้งบางคราว มันก็ถือเป็นการเซฟตัวเอง ไม่ต้องเครียด วิตกกังวล โดยไม่จำเป็น เพราะถ้าช่วยคนอื่น จนตัวเราต้องไม่สบายใจ ก็ไปไม่รอดนะจ๊ะ
8. นึกถึงคุณค่าของตัวเอง
เวลาตอบตกลง หรือยินยอมทุกครั้ง ทำให้เราต้องใช้ชีวิตที่คนอื่นขีดเส้นให้ เมื่อยอมบ่อยเกินไป คนอื่นก็จะมองว่าเรามีค่าน้อยลง เพราะใช้ให้ทำอะไรก็ทำ ขอหรือสั่งอะไร ก็ยอมทำตามทุกครั้ง
การรู้จักให้ความช่วยเหลือ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าบ่อยหรือมากเกินเหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบกลับมาหาตัวเราได้ ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจอะไร ต้องคิดทบทวนให้ดีก่อน ถึงข้อดี ข้อเสียต่างๆ และเมื่อเราเรียนรู้ที่จะปฏิเสธอย่างไม่รู้สึกผิดกับตัวเองแล้ว นอกจาจะทำให้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ตัวเราเองก็จะมีสุขภาพจิตดีตามไปด้วย