เครือ LVMH Luxury Brand

อัปเดต! เครือ LVMH อาณาจักร Luxury Brand มีอะไรในมือบ้าง

ล่าสุด! หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้วว่า… เครือ LVMH เริ่มเข้าลงทุนซื้อหุ้น Polène แบรนด์กระเป๋าหนังจากฝรั่งเศสที่ปีนี้เป็นที่ฮอตฮิตของเหล่าแฟชั่นเข้าไปอยู่ในมือแล้ว แบบนี้เราคงต้องมาอัปเดตอาณาจักร LVMH กันแล้วว่าตอนนี้มีแบรนด์ไหนอยู่บ้าง

จุดเริ่มต้นของเครือ LVMH

หากสังเกตจากชื่อเครือ LVMH (Moët Hennessy Louis Vuitton) จะเห็นได้ว่ามีตัวย่อที่มาจากหลายแบรนด์ในเครือนั่นก็คือ แบรนด์แฟชั่น Louis Vuitton (LV) แบรนด์แชมเปญ Moët & Chandon (M) และแบรนด์คอนญัค Hennessy (H) เรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร Luxury Brand ระดับโลกที่ครองตลาดตั้งแต่แฟชั่น น้ำหอม ไวน์ ไปจนถึงสินค้าหรูอื่น ๆ โดยเป็นเจ้าของแบรนด์ดัง เช่น Louis Vuitton, Dior, Fendi และอื่น ๆ มากกว่า 75 แบรนด์ทั่วโลก เครือ LVMH มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์สินค้าพรีเมียม พร้อมขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ตั้งแต่ร้านอาหาร โรงแรม ไปจนถึงแบรนด์ด้านสุขภาพ เพื่อครอบคลุมทุกด้านของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

ซึ่งจุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1854 มองซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง เริ่มทำธุรกิจกระเป๋าเดินทางภายใต้แบรนด์ Louis Vuitton หลังจากนั้นในปี 1987 คือจุดเริ่มต้นของอาณาจักร LVMH ของจริง ตั้งแต่เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) อดีตวิศวกรโยธา ก่อตั้งเครือ LVMH จากการควบรวมแบรนด์ Louis Vuitton กับ Moët Hennessy (บริษัทที่ควบรวมระหว่าง Moët & Chandon และ Hennessy) และขึ้นเป็น CEO ของบริษัทในปี 1989

ครอบครัว LVMH

โดยชื่อแบรนด์หรูที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของเครือ LVMH ซึ่งความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรแห่งนี้ยังมีอีกมากมายอย่าง เฟรเดอริก อาโนลด์ (Frederic Arnault) ลูกชายของผู้ก่อตั้งที่มีข่าวออกเดตกับลิซ่า Blackpink ก็มีตำแหน่งเป็น CEO ของ Tag Heuer ผู้ผลิตนาฬิการะดับโลก และถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ในอาณาจักร LVMH เช่นกัน เพราะนับตั้งแต่เริ่มควบรวมหลาย ๆ แบรนด์เข้าด้วยกันในปี 1987 เครือ LVMH ก็กลายเป็นอาณาจักร Luxury Brand ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถกวาดแบรนด์หรูมากมายเข้าไปอยู่ใต้ร่มเรือธงแห่งนี้แล้วกว่า 75 แบรนด์

เครือ LVMH มีแบรนด์อะไรบ้าง

เครือ LVMH

ปัจจุบันอาณาจักร Luxury Brand ในเครือ LVMH ครอบครองแบรนด์หรูในมือมากกว่า 75 แบรนด์ แบ่งได้เป็น 6 ธุรกิจ คือ

  1. ธุรกิจแฟชั่นและเครื่องหนัง มี 14 แบรนด์ เช่น Louis Vuitton, Christian Dior, Celine, Givenchy และ Fendi เป็นต้น
  2. ธุรกิจน้ำหอมและเครื่องสำอาง มี 15 แบรนด์ เช่น Parfums Christian Dior, Acqua di Parma, Maison Francis Kurkdjian และ Guerlain เป็นต้น
  3. ธุรกิจไวน์และสุรา มี 27 แบรนด์ ทั้งประเภทไวน์ คอนญัค วิสกี้ และแชมเปญ เช่น Hennessy, Moët & Chandon, Château d’Yquem, Krug และ Veuve Clicquot เป็นต้น
  4. ธุรกิจนาฬิกาและอัญมณี มี 8 แบรนด์ ทั้งประเภทเครื่องประดับ อัญมณี และนาฬิกาหรู เช่น Bulgari, Tiffany & Co., TAG Heuer และ Hublot เป็นต้น
  5. ห้างและร้านค้าปลีก (Selective Retailing) มี 5 แบรนด์ เช่น Sephora, Le Bon Marché เป็นต้น
  6. ธุรกิจอื่น ๆ กระจายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นิตยสารสื่อ และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โรงแรมระดับไฮเอนด์ เรือยอชต์ และสวนสนุก

ตัวอย่างแบรนด์ที่ LVMH เข้าซื้อ

  • Tiffany & Co. (เครื่องประดับ)
  • Rimowa (กระเป๋าเดินทาง)
  • Fenty Beauty (เครื่องสำอางของ Rihanna)

และล่าสุด LVMH ได้เข้าถือหุ้นใน Polène (โพแลน) แบรนด์กระเป๋าเครื่องหนังจากประเทศฝรั่งเศส ที่เน้นงานดีไซน์ร่วมสมัยในราคาจับต้องได้ Polène โดดเด่นด้วยกระเป๋าเรียบหรูที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งช่วยให้ LVMH เข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นในกลุ่มสินค้า Affordable Luxury

ทำไม LVMH ต้องลงทุนใน Polène

ทำไม LVMH ต้องลงทุนใน Polène

แบรนด์ Polène แบรนด์เครื่องหนังระดับพรีเมียมจากประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยครอบครัวสามพี่น้อง Mothay (Mathieu, Antoine และ Elsa) แบรนด์นี้มีจุดเด่นคือการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างความเรียบง่ายและความหรูหรา สร้างเอกลักษณ์ด้วยดีไซน์มินิมอลแต่มีกลิ่นอายร่วมสมัย กระเป๋า Polène โด่งดังจากงานฝีมือคุณภาพสูง วัสดุหลักคือหนังลูกวัวที่ผลิตจากโรงฟอกหนังในสเปนและอิตาลีโดยเฉพาะ เพราะได้รับการรับรองระดับนานาชาติจาก Leather Working Group เรียกว่าการันตีได้ถึงมาตรฐานในการผลิตหนัง แถมยังเป็นมิตรต่อคนและยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการใช้หนังเกรดพรีเมียมที่คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน โดยรุ่นยอดนิยม เช่น Numéro Un และ Numéro Dix ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ทั่วโลก

Polène เติบโตเร็วและได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่สร้างกระแสไวรัลได้ดี การลงทุนครั้งนี้ช่วยให้ LVMH เพิ่มพอร์ตแบรนด์เครื่องหนังระดับกลาง พร้อมขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าแบรนด์หรูในราคาย่อมเยานั่นเอง

แม้อาณาจักร LVMH จะยิ่งใหญ่และถือแบรนด์ระดับโลกไว้มากมาย ก็ไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตลาดหรูของจีน ฉุดให้ยอดตกถึง 3% ในไตรมาส 3/2567 หากนับแค่ในตลาดเอเชียรายได้หายไปกว่า 16% ซึ่งแบรนด์เนมที่เคยขายดีในจีนยอดขายเริ่มลดลง เพราะเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ทำให้ชาวจีนลดการซื้อของแบรนด์เนมลง รวมถึงค่าเงินของญี่ปุ่นแข็งขึ้น ทำให้การเติบโตลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เครือ LVMH ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจและลงทุนในแบรนด์ใหม่ ๆ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสินค้า Luxury แม้จะเผชิญแรงกดดัน แต่กลยุทธ์ที่เน้นการกระจายพอร์ตสินค้าและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ก็อาจทำให้อาณาจักรนี้ยังคงแข็งแกร่งในระยะยาว

SHARE

RELATED POSTS

พบกับบทพิสูจน์ว่าคุณสามารถอ่านชื่อแบรนด์เนมจากทั่วโลกได้ถูกต้องหรือไม่ พร้อมรู้จักเรื่องราวจากแบรนด์ดังที่เราคุ้นเคยมากขึ้น งานนี้เหล่าแฟชั่นนิสต้าห้ามพลาด …