Search
Close this search box.
สี่แผ่นดิน

จากบ้านสู่วัง | เรียนรู้ขนบชาววังผ่าน ‘สี่แผ่นดิน’

‘สี่แผ่นดิน’ Helena เชื่อว่า สาว ๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อนี้ แม้ว่าจะไม่เคยอ่าน หรือเคยดูละครเวทีเรื่องนี้ก็ตาม สี่แผ่นดินเป็นวรรณกรรมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื้อหาในเรื่องอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 แรกเริ่มเดิมที สี่แผ่นดินถูกเขียนเป็นตอน ๆ ลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับรายวันระหว่างปี 2494 – 2495 เป็นระยะปีกว่า ต่อมาจึงได้ตีพิมพ์เป็นเล่มขึ้นครั้งแรกในปี 2496

คุณค่าของสี่แผ่นดินอยู่ที่การกล่าวถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวในสมัยก่อน การเมืองในยุคแรกเริ่ม และทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างคนคนหัวอนุรักษ์นิยม และฝั่งเสรีนิยมได้เป็นอย่างดี แต่ที่เรารู้สึกหลงใหลในวรรณกรรมเรื่องนี้ คือการสอดแทรกวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีของชาววัง ที่เรายากจะได้รับรู้ผ่านภาษาที่สละสลวย และน่าติดตาม Helena จึงอยากชวนสาว ๆ มาเรียนรู้ขนบธรรมเนียมเหล่านั้นที่อาจจะเลือนหายไปตามเวลา ผ่านการบอกเล่าของวรรณกรรมยอดฮิตอย่างสี่แผ่นดิน

สี่แผ่นดิน

ทำไมจึงเป็นสี่แผ่นดิน

หากจะให้เล่าเนื้อหาเต็ม ๆ Helena คงต้องเขียนกัน 7 วัน 7 คืน ขอสรุปคร่าว ๆ ว่าเนื้อเรื่องของสี่แผ่นดินเล่าผ่าน ‘แม่พลอย’ ลูกพระยาที่เติบโตจากบ้านคลองหลวง และมีโอกาสให้ต้องได้เข้าไปอาศัยในวัง แล้วทำไมจึงใช้ชื่อว่าสี่แผ่นดินกัน? เพราะเรื่องราวในชีวิตของแม่พลอย ผ่านการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินถึงสี่ครั้งสี่คราว นับตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8  ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักน้ำแข็งครั้งแรกของชาวสยาม การทำคลอดด้วยหมอฝรั่ง ซึ่งเป็นของใหม่ที่คนไทยไม่รู้จัก และไม่ไว้ใจ การเสื่อมสลายของสิ่งที่เคยมีอยู่ในวังหลวง หรือแม้แต่ความคิดด้านเสรีนิยมในเรื่องของการเมือง ที่โดดเด่น เราเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยในสมัยนั้นมากที่สุด

แต่วันนี้เราจะพาสาว ๆ ไปทำความรู้จักขนบธรรมเนียมอย่างชาววังในสี่แผ่นดิน โดยเฉพาะในพระราชฐานชั้นใน! มาดูกันค่ะ ว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นส่วนประกอบที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดินได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะฉะนั้น เราขอแนะนำให้สาว ๆ ตามไปหาหนังสือมาอ่านกันเพลิน ๆ จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนะคะ

สี่แผ่นดิน

ธรณีประตูที่ห้ามเหยียบในสี่แผ่นดิน

แม่ของพลอย ซึ่งในอดีตเคยเป็นเด็กที่เติบโตในพระราชฐานชั้นใน ต้องการนำพลอยไปถวายให้เสด็จ (น้องสาวของรัชกาลที่ 5) จึงได้พาพลอยเดินทางจากบ้านเพื่อเข้าวัง สาว ๆ ที่เคยเข้าไปยังวัดพระแก้ว น่าจะสังเกตเห็นธรณีประตูที่ยกสูงขึ้นมาเหนือพื้น ตามธรรมเนียมโบราณ ส่วน ๆ นี้ไม่สามารถเหยียบได้ ถ้าจะเข้าไปข้างในจะต้องก้าวผ่านเท่านั้น แต่แม่พลอยพลาดเหยียบ นั่นทำให้ ‘โขลน’ หรือพนักงานเฝ้าประตูวังดุเธอ และให้เธอกราบธรณีประตู เพราะถือว่าธรณีประตู มีเทพมีองครักษ์คอยเฝ้า และดูแลอยู่ สาบานเลยว่าหลังจากที่เราอ่านจบ เวลาไปอารามหลวง หรือไปวัด เราจะระวังไม่ให้ตัวเองโดนธรณีประตูสุดชีวิตเลยแหละ

สี่แผ่นดิน

พระราชฐานชั้นในที่เข้าได้แต่สตรี

สี่แผ่นดินเล่าเรื่องราวชีวิตของแม่พลอยระหว่างที่อาศัยอยู่ในพระราชฐานชั้นในค่อนข้างละเอียด พระราชฐานชั้นใน ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระธิดา ตลอดจนเป็นที่อยู่ของพระสนม เจ้าจอม ข้าหลวง และข้าราชการที่เป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีเด็กหญิงวัยต่าง ๆ ทั้งหม่อมเจ้า และธิดาในเชื้อพระวงศ์ ตลอดจนธิดาของขุนนาง และข้าราชการ ซึ่งสามารถส่งลูกสาวเข้ามารับการศึกษา รวมทั้งรับการอบรมเรื่องงานบ้านงานเรือน ขบธรรมเนียมแบบชาววัง อย่างการฝึกหัดกริยามารยาท การฝีมือแบบชาววัง เราสามารถเปรียบพระราชฐานชั้นในได้อย่างเมืองเล็ก ๆ เลยค่ะ เพราะข้างในมีตำหนักน้อยใหญ่ มีแถวเต๊ง หรือตึกแถว มีระเบียบแบบแผน และความเป็นอยู่ของตนเอง ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณียุคหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์เลย

ข้อห้ามสำคัญของพระราชฐานชั้นในคือ ผู้ชายเข้าพระราชฐานชั้นในไม่ได้นั่นเอง พระราชฐานชั้นในเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสำหรับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ชาย! ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสที่ยังไม่ได้โสกันต์ (ตัดจุก) หรือเด็กชายที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี เพราะฉะนั้นคุณทหาร โขลน ข้าหลวงที่อยู่ในพระราชฐานชั้นในจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด ในสี่แผ่นดินกล่าวไว้ว่า หากผู้ชายมีธุระในพระราชฐานชั้นในก็ห้ามเซ็ตผม จะต้องเอามือขยี้ผมให้ยุ่งเหยิงสักเล็กน้อย และยังห้ามใส่รองเท้าแตะเข้ามาอีกด้วย ปัจจุบันข้อห้ามเหล่านั้นก็ผ่อนคลายลงบ้างแล้ว แต่ยังเป็นเขตหวงห้ามที่มีระเบียบแบบแผนอยู่นะคะ

สี่แผ่นดิน

อุโมงค์ ที่คลายทุกข์ของข้าหลวง ในสี่แผ่นดิน

ไม่ได้ให้สาว ๆ ชาววังไปลอดอุโมงค์น้า แต่อุโมงค์ หรือ สีสำราญ (ศรีสำราญ) ที่สี่แผ่นดินเล่าให้เราฟัง มันคือ ‘ที่ถ่ายทุกข์’ ของข้าราชสำนักฝ่ายในค่ะ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาววังเค้าถ่ายทุกข์กันที่ปลายแม่น้ำ โดยจะปลูกไม้ยื่นลงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อออกจากประตูวัง จะมีทางเดินเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบไม่มีหน้าต่าง พุ่งยาวออกจากประตูวังไปโผล่แม่น้ำเจ้าพระยา รูปร่างอุโมงค์หรือเรือนถ่ายสมัยนั้นเป็นเรือนไม้หลังใหญ่กั้นเป็นคอก นั่งถ่ายได้ครั้งละหลายคน

แต่รัชกาลที่ 5 ของเรา ท่านเล็งเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ดูไร้อารยะ จึงได้สร้างอุโมงค์แห่งใหม่ภายในวัง เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ทึบพุ่งยาวจากกำแพงวัง มีปากทางเข้า อุโมงค์ที่แม่ช้อยพาแม่พลอยไปถ่ายทุกข์ในสี่แผ่นดินจึงเป็นที่ถ่ายทุกข์แห่งใหม่ของชาววังที่เป็นข้าหลวงนั่นเอง

สี่แผ่นดิน

นุ่งผ้าสีมงคลแบบชาววัง ของสี่แผ่นดิน

สี่แผ่นดินทำให้เราได้รู้ว่า ชาววังเค้าก็ฮิตสีมงคลอยู่เหมือนกันนะเนี่ย Helena ค้นไปค้นมาก็พบว่าชาววังเค้าให้ความสำคัญกับการเลือกสีผ้านุ่งประจำวันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว! แม้แต่สุนทรภู่เอง ก็ได้แต่งคำกลอน “สวัสดิรักษา” ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มาแล้ว สี่แผ่นดินเองก็นำความรู้เรื่องการนุ่งผ้าตามวันเข้ามาแทรกเนียน ๆ Helena เลยสรุปมาฝากสาว ๆ ดังนี้ค่ะ

  • วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อน หรือบานเย็น, นุ่งน้ำเงินนกพิราบห่มจำปาแดง
  • วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มโศก หรือ นุ่งโศก/ เขียวอ่อนห่มม่วงอ่อน
  • วันพุธ นุ่งสีถั่ว/ สีเหล็กห่มจำปา
  • วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ห่มแดงเลือดนก หรือ นุ่งแสดห่มเขียวอ่อน
  • วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ห่มเหลือง
  • วันเสาร์ นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงห่มโศก
  • วันอาทิตย์ แต่งเหมือนวันพฤหัสบดี หรือ นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่/ เลือดหมู แล้วห่มโศก

โดยธรรมเนียมการเลือกสีผ้านุ่งที่ตัดกัน ส่วนมากจะเป็นสาวชาววังที่ยึดถือ แม่ของแม่พลอยถึงขั้นปรารภว่า “คนข้างนอกเวลานี้เขาก็แปลก นึกจะนุ่งสีอะไร ห่มสีอะไรเขาก็เอาแต่ใจเขา บางทีก็แต่งเป็นชุดผ้านุ่ง ผ้าห่มสีเดียวกัน ไม่ตัดสีเหมือนอย่างพวกเราในนี้ อย่างลูกสาวใหญ่ของเจ้าคุณอิฉันที่บ้าน เขาแต่งตัวตามแต่จะเห็นงาม”

เราจะเห็นได้จากบทสนทนาว่า สาวชาววังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ค่อนข้างเคร่งครัด และจับคู่สีผ้านุ่งที่ตัดกันตามตำราที่สืบทอดต่อกันมา แถมยังต้องพิถีพิถันสุดฤทธิ์ อบร่ำผ้านุ่งให้หอมฉุยชนิดที่นั่งตรงไหน กลิ่นอบร่ำก็ติดอยู่ที่พื้นตรงนั้น นั่นก็เพราะสภาพแวดล้อมรายล้อมไปด้วยผู้หญิง ที่จะไม่ว่าสมัยไหน ๆ ก็มีการชิงเด่นโอ้อวดกันเอง แต่ขณะเดียวกัน ‘ข้างนอก’ ซึ่งก็คือสาวชาวบ้าน จะเน้นแต่งตามใจชอบ นั่นอาจเพราะไม่ได้ถูกอบรมให้ยึดตามธรรมเนียมอย่างสาวชาววัง หรืออาจจะไม่มีผ้านุ่งสีตัดอย่างในตำรา ในสี่แผ่นดินก็หยิบประเด็นนี้มาเล่าพอกรุบกริบ แต่ทำให้คนอ่านนึกภาพตามได้อย่างอัศจรรย์

สี่แผ่นดิน

ดาวหาง และความสูญเสีย

สี่แผ่นดินได้กล่าวถึงการปรากฎตัวของดาวหางในคืนหนึ่ง และทำให้ชาวบ้าน รวมถึงแม่พลอยรู้สึกเป็นกังวล เพราะชาวสยามมีความเชื่อเกี่ยวกับดาวหางว่า หากมีดาวหางปรากฏ ผู้มีบุญจะมีอันเป็นไป หรือเกิดเหตุอาเพศกับบ้านเมือง ซึ่งพอแม่พลอยได้เห็น ก็เกิดความกระวนกระวายใจจนนอนไม่หลับ เพราะกลัวจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้มีบารมีในวัง ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น เพราะในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคตในไม่กี่วันต่อมา ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในเรื่องของลางบอกเหตุจากดาวหางให้กับคนไทย พ่วงด้วยหมอกธุมเกตุ หมอกที่จะปรากฏขึ้นหลังจากเกิดดาวหาง ยิ่งทำให้ทุกอย่างดูส่งให้บรรยากาศดูเศร้าสร้อยมากยิ่งขึ้น

ความงดงามของเรื่องราวขนบธรรมเนียมภายในวังเป็นพาร์ทหนึ่งที่ทำให้ Helena อยากแนะนำให้สาว ๆ หาสี่แผ่นดินมานั่งอ่าน ค่อย ๆ อ่านและตีความตามใจนึก เพราะนอกจากเรื่องราวอันซับซ้อนภายในวัง แต่สี่แผ่นดินยังทำให้เห็นมุมมองของชาวสยามในสมัยก่อนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ชาวสยามมองว่า ที่ประเทศชาติเจริญได้ก็ด้วยพระราชกรณียกิจ และวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

แม้แต่แม่พลอยเอง ก็มองว่าวังคือศูนย์รวมของทุกอย่าง เพราะความเจริญที่เกิดขึ้นในยุคของเธอไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วในวัง หากแต่ได้แผ่ขยายออกไปทั่วทั้งแผ่นดิน เธอจึงเข้าใจว่า เพราะเหตุนี้ คนไทยจึงมีสถาบันกษัตริย์ยึดไว้เป็นแกนหลัก และเมื่อถึงคราวต้องผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ชาวไทยที่ยึดเหนี่ยวสถาบันกษัตริย์ดั่งร่มโพร่มไทรจึงทุกข์หนักกว่าที่เคย นับว่าสี่แผ่นดินเป็นวรรณกรรมที่เหมาะที่จะอ่าน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยก่อนได้ดีทีเดียว

SHARE

RELATED POSTS