สะบัดธงสีรุ้งให้ Pride Month
มิถุนามหัศจรรย์ของชาว LGBTQ
ในเวลานี้โลกของเรา คำว่า ชาย และ หญิง ไม่ใช่คำนิยามเพศที่ครอบคลุมอีกต่อไป LGBTQ (Lesbian, Gay , Bisexual, Transgender/Transsexual และ Queer) จึงกำเนิดมาเพื่อเป็นตัวแทนเพศทางเลือก สำหรับชาว LGBTQ นั้นมิถุนายนของทุกปีเป็นเดือนแห่ง Pride Month เดือนมหัศจรรย์ที่ประกาศจุดยืนอันยิ่งใหญ่ให้กับความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศของพวกเค้าเลย และเราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่รอคอยเทศกาล Pride Month จากประเทศต่าง ๆ อยู่ตลอด แต่เพราะด้วยสถานการณ์ COVID-19 อันยากที่จะจัดงานที่ต้องรวมตัวคนกันอย่างมหาศาลอย่างเดิมได้ เราเลยจะมาปูพรมเล่าเรื่องราวกว่าจะมาเป็น Pride Month ให้สาว ๆ ได้ฟัง
Pride Mont คือจุดเปลี่ยนจากแรงกระเพื่อม
สาว ๆ รู้หรือไม่คะ ว่าเดือนแห่งความภาคภูมิใจ Pride Month เดือนนี้ได้มาอย่างไร? เราจะบอกให้ว่าจุดเริ่มต้นของความสันติ มาจากการถูกเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรง และการถูกมองว่า LGBTQ คืออาการผิดปกติทางจิตประเภทหนึ่ง ความคับแค้นใจเหล่านั้นส่งผลให้เกิดการจลาจลในยุค 70’s
เราต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าในยุค 70’s นั้น คนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ความแตกต่างทางเพศอาจจะไม่ผิดถ้าปิดได้ดี แต่เมื่อไหร่ที่แสดงออก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติในสังคม และยังมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนแต่งตัวผิดกับเพศสภาพ รวมถึงห้ามมีการเปิดบาร์เกย์ให้บริการด้วย ชาว LGBTQ ในนิวยอร์กสมัยนั้น จึงมีสถานที่ลับ ๆ ไว้ปลดปล่อยตัวตน และแสดงออกถึงความชอบที่แท้จริงในบาร์ Stonewall Inn แม้ว่าจะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ทำให้ Pride Month คือจุดเปลี่ยนจากแรงกระเพื่อมในบาร์เล็ก ๆ แห่งนี้
Pride Month คือของที่ระลึกจากเหตุการณ์จราจลสโตนวอลล์ ที่นิวยอร์ก ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ในขณะที่ตำรวจมาตรวจบาร์ Stonewall Inn ตามปกติ แต่ผู้คนในบาร์กลับขัดขืนการปฏิบัติงานของตำรวจ และยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ก่อให้เกิดการปะทะกันขึ้นมา จากหย่อมเล็ก ๆ ก็ลุกลามใหญ่โตออกมาถนนบริเวณหน้าบาร์ และคนที่เข้าร่วมชุมนุมก็มากขึ้นเรื่อย ๆ เสียด้วย แถมคืนต่อมาก็ยังมีการชุมนุมต่อ แถมด้วยผู้ชุมนุมอีกเท่าตัว
เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชาว LGBTQ และผลักดันให้ชาว LGBTQ กล้ายืดหยัดต่อสู้ และประกาศความเป็น LGBTQ ครั้งแรกผ่านสื่อในสมัยนั้น นำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 ที่เมืองนิวยอร์ก ตามมาด้วย 3 เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ อย่างลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จราจลสโตนวอลล์
จากการจลาจล สู่ Pride Month อย่างภาคภูมิใจ
Pride Month กลายมาเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBT เมื่อปี 2000 ที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์ และเลสเบี้ยน’ (Gay & Lesbian Pride Month) และปี 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายน เป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) ยิ่งสร้างแรงผลักดันให้สังคมยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน และทำให้ชาว LGBTQ ภูมิใจในการเป็นตัวเองอีกด้วย
ทำไม Pride Month ต้องเป็นธงสีรุ้ง
ธงสีรุ้งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกลุ่ม LGBTQ และ Pride Month เค้าไม่ได้จิ้มสีที่ถูกใจแล้วเอาไปทำธงนะ แต่ธงสีรุ้งของ LGBTQ ได้รับการออกแบบ และสร้างสรรค์มาอย่างดี โดยกิลเบิร์ต เบเกอร์ นักเคลื่อนไหวซึ่งเป็นเกย์อย่างเปิดเผย ธงสีรุ้งของชาว LGHTQ ถูกใช้โบกสะบัดความหลากหลายทางเพศให้ฟุ้งไปไกลครั้งแรกในปี 1978 ที่งาน Gay Freedom Day Parade ในซานฟรานซิสโก แรกเริ่มธงสีรุ้งมีทั้งหมด 8 สี แต่หลังจากนั้นก็มีการตัดสีชมพูฮ็อตพิงค์ และสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ออกไป ปัจจุบันธงสีรุ้งจึงเหลือเพียงแค่ 6 สี และความหมายของแต่ละสีก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เหมือนกัน
- สีแดง หมายถึง ชีวิต
- สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
- สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์
- สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
- สีน้ำเงิน หมายถึง ความปรองดอง
- สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
Pride Month ในทุกมุมโลก
ในทุกปี ช่วง Pride Month เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะมีตารางการจัดงานเทศกาล งานพาเหรด LGBTQ Pride อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้จัดในเดือนมิถุนายนพร้อมกันทั้งโลกด้วยเหตุผลทางภูมิอากาศ โซนยุโรปมักจะจัดงานกันในช่วงฤดูร้อน ในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน Prime Time ที่คนบ้านเค้าจะเอ็นจอยกับอากาศช่วงนี้กันสุด ๆ
ในโซนเอเชียของเราเองก็ไม่น้อยหน้า ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศงาน Pride Month สนุก ๆ ที่ผู้คนเป็นมิตรสุด ๆ Helena ก็แนะนำไต้หวันเลยค่ะ แม้แต่เกาหลีใต้เอง ก็ยังมีพาเหรด Drag Queen สวย ๆ หรือจะเลือกไปโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ก็มีงาน Metro Manila Pride ในฟิลิปปินส์ เค้าจัดงานนี้กันมาแล้วกว่า 20 ปีเชียวแหละ ถือเป็น LGBT Pride ที่จัดมายาวนานที่สุดในอาเซียน
แล้ว Pride Month ในประเทศไทยของเราล่ะ? กว่า 13 ปีแล้วที่งาน LGBT Pride ครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2006 แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีการเดินขบวนอยู่ในทุกปี แต่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็เป็นนักกิจกรรม หรือคนที่อยู่ในแวดวงสังคม LGBT ซึ่งไม่ถูกโปรโมตโดยภาครัฐ และไม่มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากนัก และเซอร์ไพรซ์เราไปอีกขั้น เพราะจังหวัดภูเก็ตของเราก็มีการจัด Phuket Pride มาตั้งแต่ปี 1999 แต่ที่น่าเสียดายคือ แม้เราจะมีความพยายามในการเดินขบวน LGBT Pride ที่เชียงใหม่เมื่อปี 2009 แต่ก็ถูกขัดขวางจากผู้ต่อต้านจนไม่สำเร็จ และต้องยกเลิกงาน
ถ้าอยากเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม LGBT Pride ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องเขินเลยค่ะ กิจกรรมเหล่านี้เปิดรับผู้เข้าร่วมทุกเพศ ทุกวัย ทุกสัญชาติ และไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็สามารถเข้าร่วมงาน จะยืนให้กำลังใจ หรือส่งเสียงเชียร์เฉย ๆ ก็ได้ไม่ว่ากัน และเค้าก็ไม่ได้มีแค่การเดินพาเหรดสวย ๆ แต่ในหลายเมืองยังมีกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่าง งาน Korea Queer Film Festival (KQCF) และ ShanghaiPRIDE Film Festival ซึ่งมีทั้งการฉายหนัง กิจกรรมเสวนา การแสดงงานศิลปะ และงานวิ่ง
และ Pride Month ในเดือนมิถุนายนนี้ ก็ยังมี LGBT Pride ให้ได้เฉลิมฉลองกันเหมือนเดิม แม้จะพบหน้ากันไม่ได้ แต่เราเชื่อมกันในโลกออนไลน์ได้นะคะ ใครว่าง ๆ อยากพบกับงานต้นตำรับ Pride Month อันแสนยิ่งใหญ่ SanFranCisco Pride ก็มีการฉลองออนไลน์กัน ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ใครไม่ทันปีนี้ ปีหน้าฟ้าใหม่ก็ลงชื่อร่วมยินดีกับเค้ากันได้นะ