Search
Close this search box.
ผู้หญิง

“ผู้หญิง” กับ “การเสพติด” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ปัญหาการเสพติดไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ให้ผลลัพท์ที่เลวร้ายไม่ต่างกัน แต่สำหรับผู้หญิงแล้วการเสพติดของพวกเธอมีความซับซ้อนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยความหลงผิดที่ว่าสารเสพติดบางอย่างจะช่วยให้ผอมสวยหรือผิวขาวใส หรือช่วยให้มีพลังวังชาในการรับมือกับสารพัดภารกิจที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตไปจนถึงการรับมือกับความเจ็บปวดที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะต้องเจอมากกว่าอีกทั้งการเสพติดของผู้หญิงยังส่งผลอันตรายต่อร่างกายของพวกเธอมากกว่าผู้ชาย

ขณะที่ผู้หญิงกลับไม่ค่อยกล้าเข้ารับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะด้วยความกลัวการถูกตีตราจากสังคมความไม่มั่นใจ หรือความอับอาย การทำความเข้าใจทุกด้านของการเสพติดในผู้หญิงจะช่วยให้เราสามารถช่วยผู้ที่มีปัญหาการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือคนอันเป็นที่รักได้ดียิ่งขึ้น

การเสพติด…โรคร้ายที่หญิงและชายแตกต่างกัน

จริงๆ แล้วความเป็นผู้หญิงอาจไม่ได้มีอะไรด้อยไปกว่าผู้ชาย แต่ด้วยสภาพร่างกายที่แตกต่าง และสังคมที่ “ชายเป็นใหญ่” มาแต่ไหนแต่ไร ก็ดูเหมือนจะทำให้คำกล่าวที่ว่า “เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก” นั้น เป็นเรื่องจริงอยู่หลายส่วน

และคำกล่าวนี้ก็ดูเหมือนจะจริงอย่างมากด้วย เมื่อพูดถึง “การเสพติด” ที่ไม่ได้เป็นแต่เพียงปัญหาสังคม แต่ยังเป็น “โรคร้าย” ที่ทำลายชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่หากเกิดการเสพติดขึ้นมาแล้ว การรับมือกับโรคร้ายนี้ดูจะยากลำบากกว่าผู้ชายในหลายๆ ด้าน ด้วยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงปัญหาการเสพติดในผู้หญิง ที่แตกต่างไปจากผู้ชาย เพิ่งจะไม่นานมานี้เองที่เริ่มมีการศึกษาเรื่องผู้หญิงกับการเสพติดอย่างจริงจังมากขึ้น และทำให้เราเริ่มเห็นภาพของผู้หญิงกับการเสพติดชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงหลายอย่างของการเสพติด ที่แตกต่างกันเนื่องมาจาก “เพศสภาพ” อย่างเช่น

  • การศึกษาของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ ชี้ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มพึ่งพิงสารเสพติดและเกิดการเสพติดในเวลาที่เร็วกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มของการกลับมาเสพซ้ำมากกว่าผู้ชาย
  • การศึกษาวิจัยในแคนาดาชี้ว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดความเสียหายของตับ สมอง และหัวใจเนื่องจากการดื่มเหล้ามากกว่า
  • ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะ “โอเวอร์โดส” หรือใช้ยาเสพติดเกินขนาดมากกว่าผู้ชาย

ผลกระทบเหล่านี้มาจากปัจจัยสำคัญก็คือความแตกต่างทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งการศึกษาชี้ว่าฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญต่อสารในสมองที่ส่งผลต่อการติดสารเสพติด ทำให้ผู้หญิงสามารถเสพติดได้ง่ายกว่า แม้จะใช้สารเสพติดในปริมาณที่น้อยกว่าก็ตาม หรือเรื่องของโครงสร้างร่างกายของผู้หญิงที่เล็กกว่า มีปริมาณน้ำในร่างกายน้อยกว่า และไขมันในร่างกายมากกว่า ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสติดแอลกอฮอล์ได้ง่าย รวมถึงได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มากกว่าด้วย

อะไรทำให้ผู้หญิงหันไปพึ่งพิงสิ่งเสพติด

อะไรทำให้ผู้หญิงหันไปพึ่งพิงสิ่งเสพติด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงเกิดการเสพติด ก็แตกต่างไปจากผู้ชายเช่นกัน แน่นอนว่าผู้ชายก็อาจมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้เหมือนกัน แต่สำหรับผู้หญิงแล้ว นี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดได้มากกว่า

  • ปัญหาสุขภาพจิต 

ผู้หญิงมีแนวโน้มมากกว่าในการเป็นโรคทางจิตใจต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ ก็ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการใช้สารเสพติดทั้งแบบการติดยาตามใบสั่งแพทย์หรือยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการเยียวยาอารมณ์ตัวเอง 

  • โรคอยากผอม

มีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ใส่ใจเรื่องรูปร่างหน้าตาเป็นพิเศษจนนำไปสู่ปัญหาเรื่องความผิดปกติทางการกิน เช่น โรคอะนอเร็กเซียหรือโรคบูลิเมีย ซึ่งผู้ป่วย 85-90 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง และงานวิจัยก็ชี้ว่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เป็นโรคผิดปกติทางการกิน มักจะใช้สารเสพติด โดยเฉพาะพวกสารกระตุ้นที่ช่วยกดความอยากอาหารและทำให้น้ำหนักลด

  • บาดแผลทางใจหรือการพบกับความรุนแรง

ผู้หญิงซึ่งพบกับความรุนแรงหรือมีบาดแผลทางใจ มีแนวโน้มมากกว่าที่จะเกิดปัญหาการเสพติด โดยงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีปัญหาการเสพติด มักมีประวัติของความรุนแรง การโดนทำร้าย การถูกคุกคามทางเพศ จะใช้สารเสพติดในการเยียวยาตัวเองจากปัญหาเหล่านี้

  • ปัญหาทางอารมณ์

ไม่ว่าจะเป็นความเหงา หรือความเครียดจากการรับภาระทั้งในบ้านหรือนอกบ้าน ต่างสามารถเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้หญิงหันไปหาสิ่งเสพติดเพื่อการผ่อนคลายตัวเอง

  • ความนับถือตัวเองต่ำ

การใช้สารเสพติดเป็นการทำร้ายตัวเองในระดับจิตใต้สำนึกรูปแบบหนึ่ง และการใช้สารเสพติดก็เป็นวิธีหนึ่งในการปกปิดความเจ็บปวดทางอารมณ์ของการไม่เคารพตัวเอง หรือเป็นความพยายามในการที่จะทำตัวให้เข้ากับคนอื่น

  • อาการเจ็บปวดเรื้อรัง

งานวิจัยชี้ว่าผู้หญิงมักไวต่อความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่า โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัญหาเรื่องฮอร์โมนและอาการเจ็บปวดจากการมีรอบเดือนไปจนถึงการหมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และการให้นมลูก เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงมักมีการใช้ยาแก้ปวดมากกว่า และในขณะเดียวกันร่างกายของผู้หญิงก็สามารถเสพติดกับสารที่ใช้ในยาแก้ปวดได้ง่ายและเร็วกว่าด้วย

ปัญหาการเสพติดที่พบมากในผู้หญิง

ปัญหาการเสพติดที่พบมากในผู้หญิง

  1. แอกอฮอล์

เนื่องจากแอกอฮอล์ถูกกฎหมายและเป็นที่ยอมรับในสังคม จึงมีแนวโน้มมากที่สุดที่ผู้หญิงจะใช้สิ่งนี้เพื่อเยียวยาตัวเอง และส่วนมากมักไม่รู้ตัวว่าการดื่มของตัวเองเป็นการเสพติด ทั้งที่ผู้หญิงสามารถติดเหล้าได้ง่ายกว่า จากลักษณะของร่างกายที่ทำให้แอลกอฮอล์อยู่ในระบบร่างกายนานกว่า

  1. สารกระตุ้น

ผู้หญิงมักใช้สารเสพติดในกลุ่มสารกระตุ้น อย่างเช่น โคเคน หรือเมทแอมเฟตามีน เพื่อเหตุผลของความสวยงาม การลดน้ำหนัก หรือเพื่อเพิ่มพลังวังชา เนื่องจากสารกระตุ้นเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญในร่างกาย และกดความอยากอาหาร

  1. สารกดประสาท

ยาในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepines) ซึ่งได้แก่ยานอนหลับและยาคลายเครียด เช่น Xanax, Klonopin, Valium ซึ่งแพทย์ใช้เพื่อรักษาอาการบางอย่าง ยาเหล่านี้มีคุณสมบัติในการกล่อมประสาท ใช้เพื่อลดอาการวิตกกังวล คลายเครียด และทำให้นอนหลับ ยาเหล่านี้เสพติดได้ง่ายมากหากใช้เป็นประจำ การเสพติดยาในกลุ่มนี้ในผู้หญิง อาจเนื่องมากจากผู้หญิงมักถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตใจมากกว่า

  1. สารโอปิออยด์

ผู้หญิงมีกมีอาการทางร่างกายที่ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังมากกว่า และมักจะได้รับยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ เช่น Vicodin, Percocet หรือ OxyContin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เสพติดได้ง่ายมาก เราสามารถเกิดการพึ่งพิงยาเหล่านี้ได้ในเวลาเพียงแค่ 2 วัน และสามารถพัฒนาเป็นการเสพติดได้ภายในแค่ 4 สัปดาห์ ซึ่งสำหรับผู้หญิงกระบวนการนี้ก็เกิดขึ้นได้เร็วมากเป็นพิเศษ 

  1. การพนัน

การพนันถือเป็นพฤติกรรมเสพติดที่พบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการพนันทางออนไลน์ ซึ่งด้วยรูปแบบการเล่นที่ไม่ต้องไปเล่นต่อหน้าคนอื่น ทำให้ผู้หญิงหันมาเล่นมากขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่าปลอดภัยและสามารถปกปิดตัวเองได้ดีกว่า

กำแพงที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะเข้ารับ

กำแพงที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาการเสพติด

ในปัจจุบันที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า การเสพติดเป็น “โรคร้าย” ที่ต้องการการบำบัดรักษา แต่อาจจะด้วยความแตกต่างของความเป็นผู้หญิงอีกนั่นแหละ ที่ทำให้ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่เข้าสู่การบำบัดรักษาน้อยกว่าผู้ชาย โดยส่วนใหญ่แล้วปัจจัยที่ขวางทางผู้หญิงในการเข้ารับการรักษา มักเป็นปัจจัยทางสังคมที่เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นั่นก็คือ

  • การตีตราทางสังคม

ถึงแม้สังคมจะมองการเสพติดทุกอย่างเป็น “ตราบาป” อย่างหนึ่ง แต่การ “ตีตรา” หรือตัดสินผู้ที่มีปัญหาการเสพติดนั้น ก็ยังมีความแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย อย่างเช่นการดื่มเหล้าของผู้ชายมักถูกมองเป็นเรื่องปกติในสังคม ขณะที่การดื่มเหล้าของผู้หญิงมักไม่ได้รับการยอมรับ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า หรือบทบาทของผู้หญิงที่เป็น “แม่” ทำให้ผู้หญิงถูกโจมตีมากกว่าจากการติดสารเสพติด ผลก็คือผู้หญิงมักมีความละอายและรู้สึกผิดมากกว่า และนักวิจัยก็เชื่อว่าการตีตราทางสังคมเป็นปราการสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความช่วยเหลือ

  • ภาระทางครอบครัว

ผู้หญิงมักเป็นผู้ที่รับภาระการดูแลครอบครัว โดยเฉพาะหน้าที่การดูแลลูก ผู้หญิงมักกลัวว่าจะไม่มีคนดูแลลูกหรือคนอื่นในครอบครัวในระหว่างการรรักษา หรือพวกเธออาจกลัวว่าจะถูกพรากลูกไปจากการดูแล ถ้ายอมรับว่าตัวเองมีปัญหาการเสพติด

  • การรักษาความลับ

ผลพวงจากการถูกตีตราทางสังคม ทำให้ผู้หญิงเป็นกังวลในการเปิดเผยการเสพติดของตัวเองมากกว่า หากการบำบัดรักษาทำให้เธออาจไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ผู้หญิงก็อาจไม่เลือกที่จะบำบัดรักษา

ทางเลือกแบบไหนที่ “ใช่” สำหรับผู้หญิง

ด้วยเหตุผลต่างๆ ของความเป็นผู้หญิงที่แตกต่างออกไป ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษาการเสพติดในปัจจุบันจึงต่างเห็นพ้องกันว่า การบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพของผู้หญิงนั้นควรต้องแตกต่างไปจากผู้ชาย

ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกในการรักษา ซึ่งต้องพิจารณาเป็นพิเศษถึงปัจจัยทางร่างกายของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงอาจมีอาการของการถอนยาที่มากกว่ากับสารเสพติดบางชนิด เนื่องมาจากร่างกายของผู้หญิงมีการย่อยสลายสารเคมีแตกต่างออกไปจากผู้ชาย หรือปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นที่มาของการเสพติด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องบาดแผลทางใจหรือการเผชิญกับความรุนแรงหรือการถูกทำร้าย ไปจนถึงปัจจัยทางสังคมและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เปราะบางสำหรับผู้หญิงเป็นพิเศษ

พูดง่ายๆ ก็คือ ตัวเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิง ก็คือหลักสูตรการบำบัดรักษาที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงแต่ละคนเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิงให้มากที่สุด รวมถึงแนวทางการรักษาที่ให้ความสำคัญในการบำบัดปัญหาสุขภาพจิตควบคู่ไปด้วย และนำเอาครอบครัวบำบัดเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งก็จะตอบโจทย์ในเรื่องความห่วงใยที่มีต่อครอบครัวของผู้หญิงได้ดีที่สุด ซึ่งศูนย์บำบัดยาเสพติดเอกชนอาจทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าสถานบำบัดของรัฐ ทั้งในแง่ของหลักสูตรรักษาที่มีความเฉพาะตัว และความเป็นส่วนตัวที่ทำให้ผู้หญิงสามารถวางใจได้ในเรื่องการเก็บความลับ

และด้วยทางเลือกที่ “ใช่” เช่นนี้ การกลับสู่ชีวิตที่ปกติสุขของผู้หญิงก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป