2 เต้าเฝ้าระวัง อาการ ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
สาว ๆ ทราบกันไหมว่า ‘โรคมะเร็งเต้านม’ (Breast Cancer) เป็นหนึ่งในภัยเงียบที่มีความเสี่ยงมาเป็นอันดับ 1 สำหรับมะเร็งในผู้หญิงเลยนะคะ แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกันไป เพราะหากผู้หญิงอย่างเรารู้จักสังเกตอาการ หรือความผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนถึงมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น และได้รับการรักษาก็สามารถหายได้ Helena เลยอยากจะชวนให้สาว ๆ หมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองกันไว้หน่อย ถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเราจะได้รู้ตัวได้ทันเวลาว่าเข้าข่ายเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่…
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)
อาการมะเร็งเต้านม แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่สามารถเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือควบคุมได้ และปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากการควบคุม ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้
- ไลฟ์สไตล์ รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น การบริโภคอาหาร การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- การทานยาคุมกำเนิด
- ภาวะอ้วน สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการไปกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น
- การทานเสริมฮอร์โมนในสตรีวัยทอง
- ความเครียด
ปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือการควบคุม
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- มีประวัติครอบครัว หรือญาติโดยตรง เคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- มีประจำเดือนครั้งแรก ก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนครั้งแรก หลังอายุ 55 ปี
- มีบุตรคนแรก หลังอายุ 30 ปี
โดยอาการของมะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณของท่อน้ำนม หรือความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเต้านม หรือในต่อมน้ำนมที่มีการเจริญเติบโตและควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งและขยายใหญ่ขึ้น กระจายไปตามเซลล์ในร่างกาย หรือตามต่อมน้ำเหลืองที่อวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือบริเวณไหปลาร้า
ระยะของมะเร็งเต้านม
อาการความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านม สามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ ดังนี้
มะเร็งเต้านม ระยะ 0-1
พบเซลล์ผิดปกติภายในเนื้อเยื่อเต้านม และก้อนเนื้อมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร เกิดเฉพาะภายในเต้านม ยังไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่น
มะเร็งเต้านม ระยะ 2
พบก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้น และอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ หรืออาจไม่พบก้อนเนื้อเลยก็ได้ แต่มีโอกาสพบเซลล์มะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้
มะเร็งเต้านม ระยะ 3
เนื้อเยื่อเต้านมถูกมะเร็งทำลายกินบริเวณกว้างขึ้น และก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นมากกว่า 5 เซนติเมตร สามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ และต่อมน้ำเหลืองอื่นในบริเวณใกล้เคียงเต้านม
มะเร็งเต้านม ระยะ 4
มะเร็งแพร่กระจายเข้าหลอดเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ สมอง ปอด กระดูก ระยะนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด
อาการสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่สังเกตได้ด้วยตนเอง
ต้องขอบอกเบื้องต้นก่อนว่า…มะเร็งทุกชนิด รวมถึงมะเร็งเต้านม มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ให้เห็นจนกว่าอาการจะไปถึงขั้นแพร่กระจายสู่ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาการต่อไปนี้เป็นอาการที่ผู้หญิงจะสามารถสังเกตด้วยตนเองได้ และตามสถิติแล้วประมาณ 1 ใน 5 ของผู้หญิงที่มีอาการเหล่านี้ มักตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม
- ผิวหนังของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่เรียบสนิท มีรอยบุ๋มคล้ายลักยิ้ม รั้งตัว หดตัว หรือเป็นผิวส้ม
- คลำเต้านมแล้วพบก้อนเนื้อ หรืออาจพบบริเวณใต้รักแร้ ก้อนเนื้อที่พบจะกดแล้วเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้
- ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ผิดปกติจากเดิม
- มีอาการเจ็บเต้านม หรือผิวหนังของเต้านมอักเสบ รวมถึงมีผื่นคันบริเวณเต้านม หรือผิวหนังรอบเต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะตอนคลำพบก้อนเนื้อ
- บริเวณเต้านมมีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หายสักที
- มีของเหลว หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม หากลักษณะคล้ายเลือดและไหลออกเพียงรูเดียว ควรตรวจเต้ามนมอย่างละเอียดโดยทันที
ทำอย่างไร? เมื่อพบมะเร็งเต้านม
หากสาว ๆ เริ่มเอะใจว่าตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงของลักษณะเต้านม อย่าเพิ่งเป็นกังวลมากเกินไป เพราะอย่างที่เราบอกว่ามันมีหลายปัจจัย เราจึงควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อตรวจให้ประเมินอาการอย่างละเอียด จะได้มั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่คืออะไรกันแน่ นอกจากนี้แล้วสุขภาพผู้หญิง สำหรับอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทุก 1-2 ปี
การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลายวิธี หากได้รับการวินิจฉัยและระยะของเชื้อมะเร็งแล้ว จะสามารถทราบถึงวิธีการรักษาได้ ซึ่งมีทั้งการผ่าตัด การใช้ยาต้านฮอร์โมน การฉายรังสี และการใช้เคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ และปัจจัยด้านสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงควรทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้ง โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป หลังหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 7-10 วัน รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่เข้าข่ายมีความเสี่ยง ทั้งจากอาการที่เปลี่ยนแปลง ประวัติครอบครัว รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะเนื่องจากอาการของมะเร็งเต้านมยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แท้จริง การป้องกันเต็มประสิทธิภาพจึงทำได้ยาก
เพราะแบบนี้ ผู้หญิงอย่างเราอย่าละเลยสุขภาพกันนะคะ นอกจากนี้เรามา รู้จักการตรวจภายใน เมื่อพบว่ามีผล ’ผิดปกติ’ ควรทำอย่างไร และ ภัยเงียบของผู้หญิง ‘มะเร็งปากมดลูก’ อาการเตือน และวิธีรักษา