Search
Close this search box.

เช็ก ‘อาการมะเร็งเต้านม’ รู้เร็ว รู้ก่อน โอกาสหายสูง

สาว ๆ รู้มั้ยว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่ถูกพบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก และในแต่ละปีมีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลสถิติของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2565 พบว่า ผู้หญิงไทยเป็น “มะเร็งเต้านม” มากกว่า 38,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 10 คน/วัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงสำคัญ หากเจอความผิดปกติเร็ว ก็รักษาได้เร็ว โอกาสหายขาดก็มีสูงขึ้น

วันนี้ Helena Thailand ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอเตย พญ.พุทธิพร เนาวะเศษ ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ทั้งเรื่องปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือน วิธีการตรวจคัดกรอง และวิธีดูแลสุขภาพให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม ถ้าอยากรู้จักโรคนี้กันมากขึ้นแล้ว ก็ตามมาดูกันเลย

โรคมะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร?

มะเร็งเต้านม เกิดจากเซลล์ท่อน้ำนมแบ่งตัวผิดปกติ โดยมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นสารกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดก้อนมะเร็ง หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตและกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกายได้

รู้ทันปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกคน แต่ส่วนมากจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ร้อยละ 99 ต่อ 1 โดยสาเหตุหลัก ๆ ของโรคนี้คาดว่าสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยทอง เป็นต้น โดยเราสามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้

พันธุกรรม : ถ้าครอบครัวหรือญาติสายตรงมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น พ่อแม่ พี่สาว เป็นต้น

อายุ : เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลงยีนในเซลล์ก็มีโอกาสผิดปกติมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีโอกาสเกิดก้อนมะเร็งขึ้นได้ ซึ่งกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด คือ อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป แต่ช่วงอายุน้อยกว่านี้ก็อย่าเพิ่งประมาทไป เพราะมีโอกาสเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน

การมีลูก : ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ แต่ถ้าหากไม่มีลูก หรือมีลูกหลังอายุ 30 ปี ความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนยังกระตุ้นเซลล์เต้านมให้เจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

การเทคฮอร์โมน : ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือต้องคุมกำเนิด ด้วยการทานยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า ซึ่งคุณหมอเตยได้สรุปจากงานวิจัยของ Pub Med ว่าหากทานติดต่อกัน จะสามารถเพิ่มความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะทานต่อเนื่องเป็นเวลา 5-10 ปี

ภาวะอ้วน : ไม่ใช่แค่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกมาย ซึ่งคุณหมอเตยได้พูดถึงจากงานวิจัย The NEW ENGLAND JOURNAL of MEDICINE ว่าผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 kg/m² หรืออยู่ในเกณฑ์อ้วนเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าปกติ รวมถึงเพิ่มโอกาสเป็นโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งประเภทอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

การใช้ชีวิตในประจำวัน : ถ้าหากทานอาหารที่มีไขมันสูง ทานของทอด ของไม่มีประโยชน์ ดื่มแอลกอฮอร์ สูบบุหรี่ รับควันบุหรี่ เครียด หรือไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

จุดสังเกตอาการมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมมักไม่แสดงอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวก็ลุกลามไปซะแล้ว ดังนั้นการสังเกตอาการมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้ทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าเราเป็นหรือไม่ ? ซึ่งสาว ๆ สามารถสังเกตอาการได้ตามนี้เลย

  • พบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
  • หัวนมทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • มีแผลเรื้อรังที่เต้านม
  • ผิวบริเวณเต้านมไม่เรียบเหมือนเปลือกส้ม
  • หัวนมถูกดึงรั้งให้บุ๋มไปในเต้า
  • ขนาดและรูปร่างเต้านมไม่เท่ากัน
  • มีเลือดหรือของเหลวไหลจากหัวนม
  • มีอาการเจ็บเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อไม่มีประจำเดือน

หากสังเกตแล้วพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ละเอียดทันที

การตรวจคัดกรองด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป การตรวจสุขภาพ ตรวจคัดรองมะเร็งเต้านม เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาการมะเร็งเต้านมในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ยิ่งคัดกรองเร็ว ก็ยิ่งทำให้ตรวจเจอมะเร็งในระยะแรกได้เร็ว รักษาได้เร็ว มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น และกลับมาเป็นซ้ำได้น้อยกว่าระยะอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเจอผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกเพียงแค่ 20% เท่านั้น อีก 80% ก็รู้ตัวเมื่อระยะ 2-3 ไปซะแล้ว ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมี 2 วิธี ดังนี้

1. การตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง

การตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเองจะเหมาะกับผู้หญิงที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งสามารถทำได้เพียง 3 ขั้นตอน

การดู : ให้ยืนหน้ากระจกแล้วสังเกตขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง หัวนม ว่าผิดปกติ มีรอยบุ๋ม รอยดึงรั้งหรือไม่ ? โดยยืน 3 ท่า คือ ยืนแขนแนบลำตัว ยืนตรงยกแขน และยืนมือเท้าเอวโน้มตัวไปข้างหน้า

การคลำ : ใช้นิ้ว 3 นิ้วในการคลำ (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) มีด้วยกัน 3 วิธี คือ 

  • คลำในลักษณะก้นหอย โดยการคลำรอบเต้านมทวนเข็มนาฬิกาและตามเข็มนาฬิกา
  • คลำในแนวดิ่งขึ้น-ลงจากใต้นมขึ้นไปยังกระดูกไหปลาร้า
  • คลำในแนวรูปลิ่มเข้าหาหัวนม เริ่มคลำบริเวณเต้านมเข้ามาจนถึงฐานหัวนม

การบีบ : ให้บีบที่หัวนมเบา ๆ แล้วสังเกตว่ามีสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือน้ำเหลือง ไหลออกมาหรือไม่ หากมีให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

2. การตรวจคัดกรองด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับสาว ๆ คนไหนที่ไม่มั่นใจในการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ก็สามารถเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ ซึ่งจะมีวิธีการตรวจ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้

  • การตรวจด้วยเครื่อง Mammogram

เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีประเภท 3 มิติ โดยภาพที่ได้จะมีความละเอียด ชัดเจน เห็นความผิดปกติได้ชัด เช่น จุดหินปูนเล็ก ๆ หรือก้อนไตแข็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว แต่ถึงแม้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะมีความแม่นยำสูงแต่ก็มีข้อจำกัด คือ หากเนื้อเต้านมหนาแน่นมาก ความแม่นยำในการตรวจจะลดลง และบอกความต่างของก้อนเนื้อไม่ได้

  • การตรวจด้วยเครื่อง Ultrasound

ส่วนการตรวจแบบ Ultrasound เหมาะกับผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงช่วงให้นมบุตร เพราะเนื้อหน้าอกยังมีความหนาแน่น เมื่อตรวจด้วยวิธีนี้จะทำให้เห็นก้อนความผิดปกติในเนื้อเยื่อและความแตกต่างของก้อนเนื้อได้ว่าเป็นก้อนเนื้อดี ก้อนเนื้อร้าย หรือเป็นก้อนถุงน้ำ ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น แต่ข้อจำกัดของอัลตร้าซาวด์ คือ ไม่สามมารถตรวจพบความผิดปกติจุดเล็ก ๆ ได้

ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วย Mammogram และ Ultrasound มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ตรวจทั้งแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ร่วมกัน เพื่อความแม่นยำและความถูกต้องในการตรวจมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญควรตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง

ความเชื่อผิด ๆ ของ ‘มะเร็งเต้านม’ ที่สาว ๆ ควรรู้

เราเชื่อว่าผู้หญิงหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินว่าความเชื่อที่ว่า กินน้ำเต้าหู้เยอะ ใส่ชุดชั้นในนอน ทำศัลยกรรมหน้าอก  หรือหน้าอกใหญ่ ทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าปกติ จนบางคนถึงกับตื่นตะหนก กังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงมั้ยนะ วันนี้เราเลยจะพาไปทำความเข้าใจความเชื่อต่าง ๆ ของโรคมะเร็งเต้านมกัน

ดื่มน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลืองเยอะ เสี่ยงมะเร็งเต้านมมาก

ในน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลืองมีสารไฟโบเอสโตรเจนจากธรรมชาติผสมอยู่ คุณหมอเตยก็ได้สรุปงานวิจัยจาก MDPI ว่า ถ้าทานน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองในปริมาณมาก หลายลิตรติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม แต่หากทานในปริมาณปกติเหมาะสม ประมาณ 1-2 แก้ว จะดีต่อร่างกาย รวมถึงลดความเสี่ยงมะเร็งได้ด้วย

หน้าอกใหญ่ มีโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านม

อยากจะบอกผู้หญิงหน้าอกใหญ่ทุกคนว่า การมีขนาดหน้าอกใหญ่ ไม่ได้ทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านมโดยตรง ไม่ว่าเราจะมีหน้าอกเล็กหรือใหญ่ก็โอกาสเสี่ยงโรคนี้ได้เช่นเดียว

เสี่ยงมะเร็งเต้านม เพราะใส่ชุดชั้นในนอน

นับว่าเป็นหนึ่งในความเชื่อที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่าใส่ชุดชั้นในนอนเป็นประจำ ทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านมนะ เพราะชุดชั้นในจะกดทับนม บอกเลยว่า ไม่จริงเลย เราสามารถจะใส่หรือถอดชุดชั้นในนอนก็ได้ แต่ที่มีความเชื่อแบบนี้เพราะว่าบางคนใส่ชุดชั้นในนอนแล้วมีอาการเจ็บที่เต้านมเลยคิดว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งหากเป็นมะเร็งจริง ๆ จะไม่มีอาการเจ็บ จะพบเป็นก้อนเนื้อไตแข็ง ๆ ซะมากกว่า

ซิลิโคนศัลยกรรมหน้าอก เพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านม

เป็นอีกหนึ่งความเชื่อผิด ๆ เพราะการใส่ซิลิโคนไม่ได้เพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านม รวมถึงผู้ป่วยที่ถูกตัดนมออก ยังสามารถเสริมหน้าอกใหม่ได้ด้วย

5 อ. Healthy Balance เลี่ยงมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม ถึงแม้จะเป็นโรคที่ยังป้องกันไม่ได้ แต่สาว ๆ ก็สามารถเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ โดยการปรับพฤติกรรมในการชีวิตประจำวัน ซึ่งคุณหมอเตยก็ได้แนะนำวิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมด้วยหลัก 5 อ. ดังนี้

1. อาหาร : เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เลี่ยงของมัน ของทอด เน้นกินผักและโปรตีนเยอะ ๆ เพราะหากเลือกรับประทานอาหารไม่ดี ก็เสี่ยงต่อภาวะอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงได้

2. อากาศ : อยู่ในพื้นที่บรรยากาศดีถ่ายเทสะดวก ไม่อยู่ท่ามกลางมลพิษ หรือใกล้แหล่งที่มีคนสูบบุหรี่เยอะ ๆ หากรับสารไม่ดีเข้าไปนอกจจากจะเสี่ยงมะเร็งเต้านมแล้ว ยังเสี่ยงมะเร็งอื่น ๆ อีกด้วย

3. ออกกำลังกาย : หมั่นออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดี ที่สำคัญยังเป็นการลดน้ำหนักไปในตัว

 4. อารมณ์ : ภาวะเครียดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม ดังนั้นควรมีจิตใจแจ่มใส อารมณ์ดี หากช่วงไหนเครียดให้ลองหากิจกรรมสนุก ๆ ทำ หรือนั่งสมาธิให้จิตใจผ่อนคลายก็ได้นะ

5. ไม่อดนอน : การนอนหลับเพียงพอ ส่งผลดีต่อร่างกายหลายอย่าง ทั้งแจ่มใส ทำงานได้ดี และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

อาการมะเร็งเต้านม ถึงแม้จะเป็นโรคฮิตของผู้หญิง แต่หากคัดกรองเป็นประจำก็ช่วยลดความเสี่ยงได้ และถ้าตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยให้ได้รับการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยตัวเองเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทุก ๆ 1-2 ปี และถ้าเจอความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที ซึ่งการรักษาก็มีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และการรักษาด้วยยา ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งและดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

SHARE

RELATED POSTS